ข่าวสารเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการวิจัย QUALI-DEC ในประเทศไทย


สารบัญ

1 พฤศจิกายน 2567

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เครือข่ายเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ (โดยความร่วมมือของโครงการวิจัยคลอดปลอดภัย HITAP และ ThaiPBS) พร้อมด้วยคณะตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก โครงการวิจัย Quali-Dec ฝรั่งเศส และสถาบันวิจัยแห่งชาติฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เข้าพบกรมการแพทย์ เพื่อนำเสนอปัญหาเชิงนโยบายและขอความร่วมมือในการสนับสนุนผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดการผ่าตัดคลอดในประเทศไทย

โดยในการหารือกับกรมการแพทย์นั้น ตัวแทนเครือข่ายลดการผ่าตัดคลอด อันได้แก่ ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการคลอดปลอดภัย (Quali-Dec) ประเทศไทย ได้นำคณะตัวแทนจากองค์การต่างประเทศ ได้แก่ Dr. Ana Pilar Betran ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการลดการผ่าตัดคลอดจากองค์การอนามัยโลก Dr. Alexandre Dumont ผู้ประสานงานโครงการ Quali-Dec ส่วนกลางจากประเทศฝรั่งเศส และ Dr. Xavier Mari ผู้แทนจากสถาบันวิจัยแห่งชาติฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เข้าพบเพื่อหารือและนำเสนอปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดคลอดที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในประเทศไทย กับ นพ. ไพโรจน์ สุรัตนวนิชา รองอธิบดี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ทางกรมการแพทย์ได้รับฟังและสะท้อนปัญหาเรื่องอัตราการผ่าตัดคลอดที่สูงขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย โดยพร้อมจะให้การสนับสนุนในส่วนของการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องและสร้างความตระหนักรู้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป รวมไปถึงการปรับเอาแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องไปใช้ให้แพร่หลายในโรงพยาบาล เช่น Robson Classifications และโครงการเพื่อนผู้คลอด เพื่อสนับสนุนให้มีอัตราการคลอดธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น

17 ตุลาคม 2567


ในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 เครือข่ายเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ (โดยความร่วมมือของโครงการวิจัยคลอดปลอดภัย HITAP และ ThaiPBS) ได้ร่วมมือกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายได้แก่ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่มีประสบการณ์คลอด และกลุ่มองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิสตรีและเด็ก โดยในการจัดการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรับฟังข้อมูล ความคิดเห็น ความคาดหวัง รวมไปถึงความรู้สึกของสตรีที่มีต่อการคลอดทั้งสองรูปแบบ

การประชุมเชิงปฏิบัติทั้งสองครั้งที่ผ่านมา แสดงถึงความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญของเครือข่าย โดยการประชุมเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขของไทยในวงกว้าง โดยมีเป้าหมายหลักยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาการสื่อสารและความไว้วางใจระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย การพัฒนาสื่อความรู้ และการมีส่วนร่วมกับผู้กำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการริเริ่มที่จะช่วยลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

โครงการวิจัย Quali-Dec คลอดปลอดภัย กำลังจะสิ้นสุดงานวิจัยลงในช่วงต้นปี พ.ศ. 2568 แต่การวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จะยังคงดำเนินต่อไป เพื่อประเมินประสิทธิผลในระยะยาวในการลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น ความสำเร็จของโครงการในประเทศไทยอาจนำไปสู่การขยายผลการนำกลยุทธ์ไปใช้ในโรงพยาบาลอื่นๆ ของไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการคลอดธรรมชาติและยกระดับผลลัพธ์ด้านสุขภาพของมารดาและทารกในระดับโลก

8 ตุลาคม 2567

ดร. อเล็กซานเดอร์ ดูมองท์ (สูตินรีแพทย์ ผู้อำนวยการวิจัยที่ IRD นักวิจัยด้านระบาดวิทยาที่ Ceped-Université Paris Cité และผู้ประสานงานด้านวิทยาศาสตร์ของโครงการ Quali-Dec [คลอดปลอดภัย]) ประเทศฝรั่งเศส ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโครงการวิจัย โดยตีพิมพ์บทความใน LIEPP – Laboratoire Interdisciplinaire d’Evaluation des Politiques Publiques (แพลตฟอร์มงานวิจัยของ Sciences Po)

เนื้อหาของบทความนี้ได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับเทรนด์การผ่าตัดคลอดที่สูงขึ้นอย่างมากจนน่าตกใจทั่วโลก โดยนับเป็นหนึ่งใน “วิกฤตสุขภาพ” โลกในขณะนี้

โดยดร. อเล็กซานเดอร์ ดูมองท์ ผู้ประสานงานหลักของโครงการวิจัยนานาชาติ QUALI-DEC (คลอดปลอดภัย) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปและความสำคัญของโครงการวิจัยในระดับนานาชาตินี้ ว่าได้รับการวางแผนออกแบบ จัดหาเงินทุน และดำเนินการมาอย่างไรใน 4 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

การผ่าตัดคลอดที่เพิ่มสูงมากจนน่ากังวลนี้นับว่าเป็นวิกฤตสุขภาพอย่างแท้จริง เพราะอัตราการผ่าตัดคลอดได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมากตั้งแต่ทศวรรษ 1990 จนปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดโดยรวมของโลกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 23% โดยสูงต่ำแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ

WHO ประมาณการว่าเมื่อการผ่าตัดคลอดสูงเกินกว่า 15% นั่นอาจหมายถึงว่าการผ่าตัดคลอดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่การผ่าตัดที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริงในทางการแพทย์ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงทั้งด้านสุขภาพของมารดาและทารก และการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างสูญเปล่า

การผ่าตัดคลอดยังคงเป็นหัตถการทางการแพทย์ที่มีภาวะแทรกซ้อนสูงเพราะเป็นการผ่าตัดใหญ่ จึงมีความเสี่ยงมากกว่าทั้งสำหรับมารดาและทารกเมื่อเทียบกับการคลอดทางช่องคลอด อาทิเช่น เสี่ยงที่จะมีภาวะเลือดออกมากขึ้น เกิดปัญหาเรื่องภาวะแทรกซ้อนเรื่องการหายใจที่ลำบากในทารกแรกเกิดมากขึ้น และมีภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคตมากขึ้น

แต่ในปัจจุบันด้วยหลายเหตุผล รวมถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคม การผ่าตัดคลอดเพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ เช่น แพทย์ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าเมื่อทำการผ่าตัดคลอด และสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ทำให้จัดการเวลาได้ง่ายกว่า ทำให้แพทย์มีแนวโน้มที่จะเลือกทำการผ่าตัดคลอด แต่การผ่าตัดนี้ควรทำเมื่อจำเป็น ไม่ใช่เพื่อเพิ่มค่าตอบแทนหรือประสิทธิภาพของบุคลากรทางการพยาบาล


โดยงานวิจัยนี้ได้มีผลกระทบที่เป็นรูปธรรมในแง่ของนโยบายสุขภาพ เพื่อช่วยลดจำนวนการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ โดยช่วยให้สตรีมีครรภ์และบุคลากรทางการแพทย์ตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดที่เหมาะสม และใช้การผ่าตัดคลอดอย่างเหมาะสม

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่

=>https://www.sciencespo.fr/liepp/fr/actualites/reduire-la-pratique-des-cesariennes-inutiles-le-projet-quali-dec/

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัย QUALI-DEC ท่านสามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราหรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของเราได้ที่ qualidec.com/en/home-en

และเข้าถึง MOOC ของเรา: mooc.qualidec.com

เกี่ยวกับ LIEPP: Laboratoire Interdisciplinaire d’Evaluation des Politiques Publiques เป็นแพลตฟอร์มวิจัยของ Sciences Po ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากแผนการลงทุน France 2030 ผ่าน IdEx Université Paris Cité ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 โดยร่วมมือกับ Université Paris Cité มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาแนวทางทางวิทยาศาสตร์แบบสหวิทยาการในการประเมินนโยบายสาธารณะ (โดยเฉพาะในภาคสาธารณสุข) การวิจัยที่ดำเนินการที่ LIEPP วิเคราะห์การทำงานและผลกระทบของนโยบายสาธารณะหลายด้าน LIEPP ใช้แนวทางนวัตกรรมในการวิจัยเชิงประเมินผล โดยผสมผสานวิธีการเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และเชิงเปรียบเทียบ และรวมความเข้มงวดทางวิทยาศาสตร์ระดับสูงกับความกังวลในการเผยแพร่และแปลผลการวิจัยให้กับผู้เล่นสาธารณะ: sciencespo.fr/liepp/en

10 กันยายน 2567

การประชุมเครือข่ายเพื่อการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ได้จัดขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2567 ณ ไทยพีบีเอส กรุงเทพมหานคร

โดยเป็นการรวมตัวของแนวร่วมเครือข่ายผู้มีบทบาทที่สำคัญการตั้งเป้าหมายเพื่อการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยการประชุมเครือข่ายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนสียในการแก้ไขปัญหาการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่สูงเกินความจำเป็น และเพื่อกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ ละแผนการดำเนินงานที่ ที่ชัดเจนในการลดอัตราการผ่าตัดคลอดในประเทศไทย

การประชุมเครือข่ายในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรสุขภาพต่าง ๆ ทั้ง WHO South-East Asia ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย กรมการแพทย์ HITAP ไทยพีบีเอส และคุณแม่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มาร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และแลกเปลี่ยนมุมมองที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถมองต้นตอของปัญหาได้รอบด้านและครอบคลุม เพื่อนำไปสู่การวางกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงจุดต่อไป

20 สิงหาคม 2567

Together We Can! 💪🙏🥳

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา โครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ได้เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายเพื่อเตรียมข้อมูลและกำหนด Agenda เพื่อการประชุมผลักดันโครงการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นกับหน่วยงานเครือข่ายได้แก่ HITAP และ ThaiPBS

การประชุมเตรียมงานในครั้งนี้ นำโดยกระบวนกรผู้มีความรู้ในการทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการและการระดมความคิด เพื่อทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาเรื่องการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีความจำเป็นในประเทศไทย วางแผนผลักดันโครงการเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การประชุมเครือข่ายที่จะมาถึงในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า

ขอขอบพระคุณ #HITAP และ #ThaiPBS เป็นอย่างสูงที่เห็นความสำคัญของปัญหาเรื่องการผ่าตัดคลอดที่สูงเกินความจำเป็นในประเทศไทย อันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และทารก รวมไปถึงก่อให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตามมา และพร้อมให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้ให้เป็นที่รับรู้ต่อไปในวงกว้างค่ะ 🤝👏

19 สิงหาคม 2567

ขอแสดงความยินดี 🥳👍กับ พว. ลัดดาภรณ์ ชินทอง และทีมงานห้องคลอดโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการนำเสนอโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” (Labour Companionship Program) ในการประชุมสามัญและประชุมวิชาการประจำปี 2567 ที่จัดโดยสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สำนักงานสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 16 สิงหาคม 2567

ขอร่วมแสดงความยินดีกับทีมงานห้องคลอดคุณภาพที่ภาคภูมิใจของโครงการคลอดปลอดภัย Quali-Dec ของเราด้วยค่าาา 🥳👍😍👏👏👏

2 สิงหาคม 2567

โครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย มาร่วมกิจกรรมออกบูธงานวันแม่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ. ขอนแก่น ในวันที่ 2 สิงหาคม 2567 เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์โครงการและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทางเลือกของการคลอดและข้อดีข้อเสียของการคลอดในแต่ละรูปแบบ

23 กรกฎาคม 2567

ศาสตราจารย์นายแพทย์ภิเศก ลุมพิกานนท์ สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ประเทศไทย

ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข” ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567

19 กรกฎาคม 2567

“โครงการเพื่อนผู้คลอด” โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้รับรางวัลชนะเลิศสองรางวัลซ้อน “รางวัลชนะเลิศ Gold Award”ด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรมด้านการรักษาพยาบาล และรับรางวัลที่ 1 ประเภท Clinic ในงานประชุมวิชาการการจัดการความรู้ (Share and Learn)คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2567

ขอแสดงความยินดีกับตัวแทนทีมงานห้องคลอดคุณภาพ พว. ลัดดาภรณ์ ชินทอง หน่วยห้องคลอด โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และทีมงานทุกท่านด้วยค่ะ 🥳👍😍👏

10 กรกฎาคม 2567

“เพื่อนผู้คลอด มีบทบาทสำคัญมากครับ เพราะจะคอยอยู่ใกล้ ๆ ให้แม่รู้สึกอบอุ่นใจ และคอยช่วยเหลือ หยิบ จับ ทำ ในสิ่งที่แม่ต้องการ เช่น คอยปลอบประโลมใจ คอยเช็ดเหงื่อ หาน้ำให้ดื่ม บีบนวดยามปวด ช่วยเอาผ้าร้อนประคบบริเวณที่ปวด คอยพยุงเมื่ออยู่ในท่าลำตัวตั้งตรงตลอดการคลอด คอยพัดโบกยามร้อน คอยเปิดเพลงเย็น ๆ ให้ฟัง

หน้าที่เหล่านี้ หากเป็นหมอหรือพยาบาลคงทำได้ไม่เต็มที่เหมือนเพื่อนผู้คลอด เพราะบางทีแม่อาจเกรงใจไม่กล้าบอกความต้องการ ซึ่งเมื่อมีเพื่อนผู้คลอดแล้ว หมอและพยาบาลจะเหนื่อยน้อยลง”

ที่มา: รศ. นพ. เอกชัย โควาวิสารัช

จากหนังสือ “คลอดแบบไหนดี คลอดเองหรือผ่าคลอด”

12 มิถุนายน 2567

📢 ประสบการณ์ของคุณแม่ชาวเวียดนามในการใช้ “คู่มือผู้คลอด” (DAT) ในการทำความเข้าใจเพื่อเลือกวิธีการคลอดอย่างมีข้อมูล การศึกษาจากหนึ่งในโรงพยาบาลประเทศเวียดนามที่ได้เข้าร่วมโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย)

👩‍⚕️ คุณแม่ชาวเวียดนามท่านนี้ได้ใช้ข้อมูลจากคู่มือผู้คลอด ผ่านทางแอพพลิเคชั่นชื่อ QualiDec (สามารถดาวน์โหลดได้ผ่าน App Store และ Playstore) ในการตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดที่เหมาะสมกับเงื่อนไขการตั้งครรภ์ของตนเอง 🌟

สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ ในหลากหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วยค่ะ📲

10 มิถุนายน 2567


ขอแสดงความยินดีกับอีกหนึ่งคู่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ได้เข้าร่วมโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี หนึ่งในแปดโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ในประเทศไทย

คุณพ่อรัตนะ จำเริญ (RATANA CHAMROEUN) และคุณแม่กนิษฐา แซท (KANITHA SAT) เป็นคุณพ่อคุณแม่ชาวกัมพูชา ที่ได้เข้าร่วมโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เป็นโครงการที่สนับสนุนให้คุณพ่อสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจคุณแม่ในระหว่างที่รอคลอดได้ เพื่อให้คุณแม่สามารถคลอดธรรมชาติได้อย่างปลอดภัยและราบรื่น

ขอแสดงความยินดีกับคุณพ่อคุณแม่ที่ได้คลอดทารกน้อยสมบูรณ์แข็งแรง และขอขอบคุณบุคลากรการแพทย์ แผนกห้องคลอด โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีทุกท่าน ที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันโครงการเพื่อนผู้คลอดให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน

1 มิถุนายน 2567

นักวิจัย Social Scientists ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ และดร.วราลักษณ์ กิตติวัฒน์ไพศาล จากโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลการสำรวจหลังการคลอด (Postpartum survey) ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ. เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ

Postpartum Survey เป็นการเก็บข้อมูลช่วงสุดท้ายก่อนสรุปโครงการวิจัย

โดยนักวิจัยจากโครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย ได้ทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์สตรีผู้คลอด โดยจะใช้เวลาในการเก็บข้อมูลประมาณ 2 อาทิตย์

ทางโครงการขอกราบขอบพระคุณในความร่วมมือและการต้อนรับของทีมงานทุกท่านจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์เป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

23 พฤษภาคม 2567

ขอแสดงความยินดี 🎉👏🥰 กับทีมงานวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) เพื่อการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ในประเทศอาร์เจนติน่า ที่ได้ดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเชิงกลยุทธ์

โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ดร. Gialdini ผู้นำนักวิจัยของโครงการ Quali-Dec ในประเทศอาร์เจนติน่า ได้นำเสนอเกี่ยวกับกลยุทธ์ QUALI-DEC และการมีส่วนร่วมที่สำคัญของสถาบันด้านสุขภาพต่าง ๆ ในประเทศที่จะมีส่วนช่วยในการเก็บข้อมูล การบันทึก และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านการระบุของกลุ่มตามการจัดประเภทของ Robson Classification

นอกจากนี้ทางทีมงานยังได้เข้าร่วมสัมมนา “Overmedicalization of Birth in Latin America” ที่จัดโดยเครือข่ายการวิจัยในสูติศาสตร์เชิงวิชาชีพ สุขภาพทางเพศ และสุขภาพการเจริญพันธุ์ในลาตินอเมริกา โดยในการประชุมครั้งนี้ โครงการวิจัย Quali-Dec อาร์เจนติน่าได้มีโอกาสร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำโครงการนี้ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากอุรุกวัย ชิลี เวเนซุเอลา เปรู โคลอมเบีย เม็กซิโก และคอสตาริกา

การผลักดันขับเคลื่อนการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ในละตินอเมริกา เริ่มมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนแล้ว 🎉💯❤️👏

โครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) นี้ ได้ดำเนินการวิจัยพร้อมกันใน 4 ประเทศทั่วโลกได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอาร์เจนติน่า และประเทศเบอร์กิน่าฟาโซ และกำลังเข้าสู่ระยะการสรุปและวิเคราะห์ผลจากการเก็บข้อมูลวิจัยในช่วงท้าย

2 พฤษภาคม 2567

ทำไมคุณแม่จึงควรมีเพื่อนผู้คลอด

ผลการวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การมีเพื่อนผู้คลอดให้ประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่คุณแม่ผู้คลอดจะได้รับกำลังใจและการสนับสนุนทางด้านอารมณ์ เช่น การคอยอยู่เป็นเพื่อน การสร้างความเชื่อมั่น และการแสดงความชื่นชม

เพื่อนผู้คลอดยังสามารถช่วยทำให้คุณแม่ผู้คลอดรู้สึกสบายขึ้น เช่น การสัมผัสอย่างปลอบโยน การนวด การช่วยให้ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ช่วยให้ได้ดื่มน้ำเพียงพอและช่วยเหลือเวลาต้องปัสสาวะ และยังช่วยสื่อสารแทนคุณแม่ยามที่ต้องการ

นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่าคุณแม่ผู้คลอดที่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนผู้คลอดมีความเป็นไปได้สูงกว่าที่จะคลอดทางช่องคลอดโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเช่น คีม เครื่องดูดสุญญากาศ หรือใช้การผ่าตัดคลอด ลดการใช้ยาช่วยบรรเทาอาการปวด และลดระยะเวลาการคลอดให้สั้นลงได้อีกด้วยค่ะ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.xn--42c6aa1a0amqc3ed0c.com/?page_id=388

1 พฤษภาคม 2567

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ Social Scientists ของโครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ และดร.วราลักษณ์ กิตติวัฒน์ไพศาล ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลการสำรวจหลังการคลอด (Post-partum survey) ที่โรงพยาบาลอุดรธานี จ. อุดรธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ

การเก็บข้อมูลนี้เป็นการเก็บข้อมูลช่วงสุดท้ายก่อนสรุปโครงการวิจัย

โดยนักวิจัยจากโครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย ได้ทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ โดยจะใช้เวลาในการเก็บข้อมูลประมาณ 2 อาทิตย์

ทางโครงการขอกราบขอบพระคุณในความร่วมมือและการต้อนรับของทีมงานทุกท่านจากโรงพยาบาลอุดรธานีเป็นอย่างสูงด้วยนะคะ

30 เมษายน 2567

โครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ประเทศอาร์เจนติน่า ประสบความสำเร็จอีกขั้นในการผลักดันให้บังคับใช้มาตรการควบคุมการผ่าตัดคลอด (ที่อาจไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์) ในระดับเทศบาลแห่งเมืองโรซาริโอ (Rosario) ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐซานตาเฟ ประเทศอาร์เจนตินา ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา

โดยในประเทศอาร์เจนติน่านี้ เป็นหนึ่งในสี่ประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการวิจัย Quali-Dec เพื่อสนับสนุนให้มีการลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ ร่วมกับประเทศไทย ประเทศเวียดนาม และประเทศเบอร์กิน่าฟาร์โซ

โดยเทศบาลเมืองโรซาริโอ ได้ออกมาตรการ “แผนการสำหรับการผ่าตัดคลอดอย่างเหมาะสม” อันเนื่องมาจากสาเหตุการเพิ่มขึ้นของผ่าตัดคลอดอย่างรวดเร็วในประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองโรซาริโอ โดยในรพ.รัฐ มีอัตราการผ่าตัดคลอดอยู่ที่ 30-35% ในขณะที่รพ.เอกชนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง75% – 80% ได้

ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จอีกขั้นอย่างเป็นรูปธรรมของโครงการ Quali-Dec อาร์เจนติน่าด้วยค่ะ

24 เมษายน 2567

ความในใจของอีกหนึ่งคู่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนผู้คลอด ที่รพ. นพรัตนราชธานี หนึ่งในแปดโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการวิจัยคลอดปลอดภัย (Quali-Dec)

การให้มี “เพื่อนผู้คลอด” (Labour Companion, Birth Partner) ที่คุณแม่ไว้ใจและเลือกให้เข้าไปช่วยเหลือในระหว่างการคลอด เป็นหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นและสนับสนุนให้คุณแม่สามารถคลอดธรรมชาติได้อย่างราบรื่น

เพราะการคลอดเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและเจ็บปวด คุณแม่ผู้คลอดส่วนใหญ่มักจะมีความกังวลหวาดกลัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

การที่มีเพื่อนผู้คลอด ซึ่งเป็นบุคคลที่คุณแม่รักและไว้ใจเข้าไปให้กำลังใจ และให้ความช่วยเหลือระหว่างเจ็บท้องรอคลอดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น คอยนวดเบา ๆ เปิดเพลง พาไปเข้าห้องน้ำ คอยช่วยพยุงให้เปลี่ยนท่าทาง สิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายและมีกำลังใจที่จะคลอดเองได้อย่างปลอดภัย

19 เมษายน 2567


สัมภาษณ์คุณแม่ผู้เข้าร่วมโครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) จากประเทศอาร์เจนติน่า ถึงประสบการณ์ของการศึกษาข้อมูลจากคู่มือผู้คลอดเพื่อการตัดสินใจเลือกการคลอดที่เหมาะสมกับสภาวะด้านสุขภาพของคุณแม่ค่ะ

The Quali-Dec team would like to share an Argentinian experience with you: in this video, discover Aylén and her adorable baby 🍼💕 This young mum explains how the Quali-Dec Decision analysis Tool helped her during her prenatal visits.

Every birth is unique. The choice of delivery route depends on a number of factors such as your baby’s weight, size and position, as well as your medical history. This tool is designed to provide you with information and help you reveal your preferences when it comes to mode of delivery….

Follow @informacionparanacimientos to know more about our project in Argentina

🤰
✨

Ready to be inspired? Download our app in the link in our bio 📲

11 เมษายน 2567


วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา Social Scientists ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ และดร.วราลักษณ์ กิตติวัฒน์ไพศาล จากโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลการสำรวจหลังการคลอด (Postpartum Survey) ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ. ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นการเก็บข้อมูลช่วงสุดท้ายก่อนสรุปโครงการวิจัย

โดยนักวิจัยจากโครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย ได้ทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ โดยจะใช้เวลาในการเก็บข้อมูลประมาณ 2 อาทิตย์

ทางโครงการขอกราบขอบพระคุณในความร่วมมือและการต้อนรับของทีมงานทุกท่านจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นอย่างสูงค่ะ

5 เมษายน 2567


อ่านรายงานการวิจัยฉบับเต็มชิ้นล่าสุด ของโครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย เรื่อง การตั้งครรภ์และการคลอดบุตรของผู้หญิง: การสำรวจในหลายประเทศในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง (ตีพิมพ์ 28 มีนาคม 2024) ในวารสาร Midwifery: https://doi.org/10.1016/j.midw.2024.103979

ผู้เขียนหลัก: Camille Etcheverry, ผดุงครรภ์และนักศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาระบาดวิทยาในโครงการ QUALI-DEC – มีนาคม 2024

Source: Blog จากเว็บไซต์หลักของโครงการ https://www.qualidec.com/…/womens-caesarean-section…/

28 มีนาคม 2567

ในวันนี้ทีมงานวิจัย Quali-Dec คลอดปลอดภัย ได้มีโอกาสนำ Ms. Emma Wallengren ผู้ช่วยวิจัยโครงการ Quali-Dec ฝ่ายประเมินกระบวนการวิจัย ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานโครงการจากประเทศฝรั่งเศส มาสวัสดีทักทายและลงพื้นที่ที่โรงพยาบาลขอนแก่น หนึ่งในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการวิจัยของเรา เพื่อทำความเข้าใจในบริบทพื้นที่และสังคมวัฒนธรรมของโรงพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินกระบวนการวิจัย ในช่วงปีสุดท้ายของโครงการ

โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นยิ่งจากพี่ ๆ เจ้าหน้าที่แผนกห้องคลอด โรงพยาบาลขอนแก่น ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างยิ่งค่ะ

27 มีนาคม 2567

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ล่าสุดจากโครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) เรื่อง “Women’s caesarean section preferences: A multicountry cross-sectional survey in low- and middle-income countries” (เรื่อง “ความต้องการผ่าตัดคลอด”: การสำรวจในหลายประเทศในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ในประเทศที่มีรายได้ต่ำจนถึงปานกลาง)

ที่มา: Source: https://www.sciencedirect.com/…/pii/S0266613824000639…

ผลการวิจัยจากการสำรวจในหลายประเทศเกี่ยวกับความต้องการในการผ่าตัดคลอดของสตรีตั้งครรภ์เผยประเด็นสำคัญดังนี้

1. การศึกษานี้ได้ทำการเก็บข้อมูลในประเทศอาร์เจนตินา บูร์กินาฟาโซ ประเทศไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีระดับรายได้และแนวโน้มอัตราการผ่าตัดคลอด (CS) ที่แตกต่างกัน

2. ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการผ่าตัดคลอดที่สูงในประเทศเหล่านี้ ได้แก่ นโยบายสาธารณสุขที่สนับสนุนการผ่าตัดคลอดฟรี อัตราการผ่าตัดคลอดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการผ่าตัดคลอด

3. การวิจัยใช้แบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ความต้องการของสตรีตั้งครรภ์ในเรื่องวิธีการคลอดบุตร และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการในการผ่าตัดคลอดในช่วงปลายของการตั้งครรภ์

4. ความกลัวความเจ็บปวดของผู้หญิง และอิทธิพลของแพทย์เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความต้องการในการผ่าตัดคลอด

5. การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการให้ข้อมูลเชิงประจักษ์ต่อสตรีตั้งครรภ์ และสนับสนุนให้มีแนวปฏิบัติเพื่อลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

โดยรวมแล้ว ผลการวิจัยนี้เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการกำหนดเป้าหมายแนวทางเพื่อตอบสนองความต้องการของสตรีตั้งครรภ์ในการเลือกการคลอดที่ปลอดภัย ปรับปรุงบริการดูแลสุขภาพของมารดา และลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง

19 มีนาคม 2567

งานวิจัยชิ้นล่าสุดของโครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร BMC Pregnancy and Childbirth เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา (ที่มา: https://bmcpregnancychildbirth.biomedcentral.com/…/s128… )

งานวิจัยเรื่อง “How does hospital organisation influence the use of caesarean sections in low- and middle-income countries? A cross-sectional survey in Argentina, Burkina Faso, Thailand and Vietnam for the QUALI-DEC project” (โครงสร้างการจัดการของโรงพยาบาลมีอิทธิพลต่อการผ่าตัดคลอดอย่างไร ในประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลาง แบบสำรวจในประเทศอาร์เจนติน่า เบอร์กิน่าฟาโซ ประเทศไทย และเวียดนาม)

โครงการวิจัย QUALI-DEC คลอดปลอดภัย ไดัเริ่มทำการสำรวจข้อมูลในโรงพยาบาลจาก 4 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา เบอร์กินาฟาโซ ประเทศไทย และเวียดนาม เพื่อศึกษาผลกระทบของปัจจัยด้านโครงสร้างการบริหารจัดการของโรงพยาบาลที่มีผลกระทบต่อการผ่าตัดคลอด

โครงการวิจัยนี้ศึกษาสตรีตั้งครรภ์กว่า 2,000 คนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดที่จะต้องผ่าตัดคลอด ทำให้พบว่าโครงสร้างการบริหารจัดการในโรงพยาบาลส่งผลให้เกิดการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้นได้ อาทิเช่น การขาดความเป็นส่วนตัวในโรงพยาบาล ความขาดแคลนด้านพื้นที่ทำให้ต้องใช้พื้นที่การคลอดร่วมกันส่งผลให้สตรีตั้งครรภ์มีความพอใจที่จะผ่าตัดคลอดมากกว่า และเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับสตรีตั้งครรภ์บุคลากรทางการแพทย์ได้เอื้ออำนวยให้เกิดการผ่าตัดคลอดขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าหากมีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเงื่อนไขในเรื่องการจัดการทรัพยากรของโรงพยาบาลเข้าร่วมด้วย จะทำให้จำนวนการผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เช่น เงื่อนไขที่ว่าจะต้องมีวิสัญญีแพทย์ประจำการ 24 ชม. เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว สาเหตุจากการขาดความเป็นส่วนตัว การเข้าถึงการผ่าตัดได้ง่าย และการดูแลระหว่างการคลอดที่จำกัดทำให้เกิดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ จึงมีความจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรค ร่วมไปกับการใช้แนวปฏิบัติในการให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง เพียงพอ ครบถ้วนต่อสตรีตั้งครรภ์ในการเลือกวิธีการคลอดด้วย

15 มีนาคม 2567

การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อร่วมเก็บข้อมูลวิจัยหลังการคลอด (Postpartum Survey) เป็นการเก็บข้อมูลช่วงปีสุดท้ายของโครงการวิจัย Quali-Dec คลอดปลอดภัย

โดยเป็นการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ อันได้แก่ ผู้ประสานงานโครงการ ผู้นำทางความคิดในโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานจริง และสตรีตั้งครรภ์ที่ได้คลอดในขณะที่เข้าร่วมโครงการ

การเก็บข้อมูลในช่วงปีสุดท้ายนี้ เพื่อประเมินผลของการนำเอาแนวปฏิบัติเพื่อลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น ที่ทางโครงการ Quali-Dec ได้ทดลองนำไปใช้จริงในโรงพยาบาลมาเป็นระยะเวลาเกือบสองปีแล้วนั้น ว่ามีประสิทธิผลในการช่วยลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นลงได้หรือไม่

5 มีนาคม 2567

การตรวจเยี่ยมการเก็บข้อมูลโครงการวิจัยคลอดปลอดภัย (Qualli-Dec) ครั้งที่ 6 ในโรงพยาบาลทั้ง 8 แห่งที่เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยเป็นการติดตามตรวจเยี่ยมโครงการและการเก็บข้อมูลวิจัยครั้งสุดท้าย

การเก็บข้อมูลวิจัยในโครงการ Quali-Dec นี้ จะมีการตรวจติดตามผลในทุก ๆ 3 เดือน ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาเกือบสองปี โดยทีมงานวิจัยในแต่ละโรงพยาบาลจะมาแชร์ข้อมูลการนำเอาแนวปฏิบัติทั้ง 4 ประการของโครงการไปปรับใช้ในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง

โดยแนวปฏิบัติเหล่านี้ได้แก่ 1) การมีผู้นำทางความคิด 2) การตรวจสอบและให้ผลสะท้อนกลับ 3) การมีเพื่อนผู้คลอด และ 4) การใช้เครื่องมือให้ความรู้เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกการคลอด

แต่ละโรงพยาบาลสมาชิกได้นำเอาเครื่องมือเหล่านี้ไปปรับใช้ในโรงพยาบาลเพื่อติดตามผลว่าจะสามารถช่วยลดการผ่าตัดคลอดโดยที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นทางการแพทย์ลงได้หรือไม่ โดยได้เก็บข้อมูลต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน

ในปี 2567 นี้เป็นปีสุดท้ายในการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นผลการวิจัยเพื่อสนับสนุนการลดการผ่าตัดคลอดโดยไม่จำเป็นในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปผลการวิจัยได้ในสิ้นปี 2567 นี้

20 กุมภาพันธ์ 2567

บทความสั้นเรื่อง Caesarean delivery: Global Perspective on Unwanted Effects ( Source: https://doi.org/10.1111/1471-0528.17795 ) โดยทีมงานโครงการคลอดปลอดภัย Quali-Dec ประเทศไทย ได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสาร BJOG (international Journal of Obstetrics and Gynaecology) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

บทความนี้พูดถึงอัตราการผ่าตัดคลอดกำลังพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะยอมรับว่าการผ่าตัดคลอดมีความจำเป็นทางการแพทย์เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของมารดาและทารกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังขาดหลักฐานที่สนับสนุนประโยชน์ของการผ่าตัดดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่การผ่าตัดคลอดเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยจำเป็นทางการแพทย์

มีผลการวิจัยมากมายที่ยืนยันว่าการผ่าตัดคลอดนำมาซึ่งความเสี่ยงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของมารดาและทารก ตลอดจนถึงการตั้งครรภ์ครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคต

ตั้งแต่ปี 1990 อัตราการผ่าตัดคลอดได้เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (LMICs) ประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างไม่สมดุลเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันตก และแอฟริกาเหนือ มีการเพิ่มขึ้นของการผ่าตัดคลอดอย่างมาก (44.9%, 34.7% และ 31.5% ตามลำดับ) ในขณะที่ภูมิภาคที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรปและอเมริกาเหนือ มีอัตราการผ่าตัดคลอดที่ต่ำกว่า (ประมาณ 27.2%) โดยในละตินอเมริกาและแคริบเบียนการผ่าตัดคลอดสูงถึง 44% ในขณะที่แอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อัตราการผ่าตัดคลอดจึงอยู่ที่ประมาณ 4%

ความไม่เท่าเทียมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างอันไม่สมดุลในกลุ่มประเทศที่มีรายปานกลางถึงต่ำเหล่านี้เองด้วย โดยที่ผู้หญิงในประเทศที่ร่ำรวยกว่าสามารถเข้าถึงการเข้าถึงการผ่าตัดคลอดได้สูงกว่ามากจนก่อให้เกิดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น แต่เมื่อเทียบกับผู้หญิงในชนบทที่ด้อยโอกาส แม้จะมีเหตุจำเป็นที่ต้องการการผ่าตัดคลอดจริง ๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์นี้ได้

อัตราการตัดผ่าคลอดที่เหมาะสมยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ แต่การผ่าตัดคลอดมากกว่าครึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่เหมาะสม จนอาจส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของมารดาและทารกแรกเกิดสูงขึ้นได้ ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดบุตรทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวที่อาจเพิ่มขึ้นได้ด้วย

7 ธันวาคม 2566

การตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าของโครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัยครั้งที่ 5 ในโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการวิจัย

โครงการวิจัย Quali-Dec คลอดปลอดภัย กำลังจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเก็บข้อมูลการนำเอาแนวปฏิบัติไปปรับใช้ในโรงพยาบาลเพื่อหาวิธีลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น โดยได้ดำเนินการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปลายปี 2561 และมีการตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าของการเก็บข้อมูลทุก ๆ 3 เดือน

ภายในปีหน้า 2567 โครงการวิจัยของเราจะเริ่มการวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา เพื่อจะสามารถชี้ชัดได้ว่าการลดการผ่าตัดคลอดในประเทศไทยจะสามารถใช้วิธีการใดได้บ้างที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขอบคุณโรงพยาบาลร่วมการวิจัยทั้ง 8 แห่ง ที่ทำงานอย่างทุ่มเทมาตลอดปี 2566 นี้

17 พฤศจิกายน 2566

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โครงการวิจัย Quali-Dec คลอดปลอดภัยในประเทศอาร์เจนติน่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ประเทศสมาชิกโครงทำวิจัยเพื่อหาแนวทางในการลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น ได้ขับเคลื่อนโครงการไปสู่การยื่นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรของประเทศอาร์เจนติน่า เพื่อพิจารณาออกกฎหมายควบคุมดูแลเรื่องการใช้การผ่าตัดคลอดอย่างเหมาะสม

โดยในวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สส. โมนิก้า เฟน ได้ยื่นร่างกฏหมายเรื่อง “โครงการระดับประเทศว่าด้วยเรื่องการใช้การผ่าตัดคลอดอย่างเหมาะสม” (National Program for the Proper Use of Caesarean – UNCP) ต่อสภาผู้แทนราษฎรอาร์เจนติน่า โดยเป็นร่างกฏหมายที่นำเอาผลจากการดำเนินโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ใน 8 โรงพยาบาลของประเทศอาร์เจนติน่า ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 มาเป็นข้อมูลหลักในการร่างกฎหมายครั้งนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อสุขภาพของมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โดยในประเทศอาร์เจนติน่านั้นมีกฎหมายสนับสนุนให้มี “เพื่อนผู้คลอด” (Companionship) มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่สตรีผู้คลอดสามารถเลือก “เพื่อนผู้คลอด” ได้เองให้เข้าไปให้ความช่วยเหลือระหว่างการคลอด

ทั้งนี้ทางโครงการ Quali-Dec ยังได้พยายามส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องการคลอดแก่สตรีตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสตรีตั้งครรภ์จะได้มีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอในการตัดสินใจเลือกการคลอดที่เหมาะกับสภาวะของตนเอง

การยื่นร่างกฎหมายผ่าตัดคลอดในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการดูแลสุขภาพของสตรีตั้งครรภ์และทารกได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการคลอด ซึ่งเป็นอีกก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับโครงการวิจัย Quali-Dec ทั่วโลก

โครงการวิจัยคลอดปลอดภัย (Quali-Dec) เข้าร่วมประชุม FIGO 2023

12 ตุลาคม 2566

The Quali-Dec Team in Paris!


ทีมโครงการวิจัยคลอดปลอดภัย (Quali-Dec) ในการประชุมระดับโลกที่จัดโดยสหพันธ์สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยานานาชาติ (International Federation of Gynecology and Obstetrics หรือ FIGO) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคม 2566

โดยในการเข้าประชุม FIGO ในครั้งนี้ มี ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย Quali-Dec ประเทศไทย, ผศ. นพ. เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ผู้ประสานงานโครงการ, และ นพ. โอฬาริก มุวิกวงศ์ ผู้ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ ได้เข้าร่วมประชุมและได้พบปะกับทีมงาน Quali-Dec ของส่วนกลางที่กรุงปารีส ฝรั่งเศสอีกด้วย

โครงการวิจัย Quali-Dec เป็นโครงการวิจัยที่เก็บข้อมูลพร้อมกันใน 4 ประเทศทั่วโลกได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม อาร์เจนติน่า เบอร์กิน่าฟาโซ และอาร์เจนติน่า โดยมีสำนักงานประสานงานหลักอยู่ที่กรุงปารีส

โครงการวิจัยของเราดำเนินงานเกือบเข้าช่วงระยะสุดท้ายแล้ว เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก

รพ. ศิริราช เปิดตัวโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” แสดงแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างสูง

9 ตุลาคม 2566

“คุณหมอคะ ที่ศิริราชอนุญาตให้สามีเข้าในห้องคลอดด้วยได้ไหมคะ” จากคําถามเดิมที่คําตอบไม่เคยเปลี่ยนมาหลายสิบปี…แต่ต่อไปนี้คำตอบจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…

ศ.คลินิก นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และผู้ประสานงานโครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย ได้เขียนบทความเรื่อง “เพื่อนผู้คลอด – คำตอบที่เปลี่ยนไป” ซึ่งเป็นบทความที่ได้รับรางวัล KM Award 2023 ของศิริราชพยาบาล

บทความแสดงให้เห็นแนวโน้มความเป็นไปได้ของรพ. ศิริราช ในการนำเอาแนวความคิด “เพื่อนผู้คลอด” (Labour Companion) คือการให้สตรีตั้งครรภ์สามารถเลือกเพื่อนผู้คลอดเข้าไปให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจในห้องคลอดได้ เพราะการมีเพื่อนผู้คลอดอยู่ข้างกาย ทำให้ผลลัพธ์ของการคลอดดีขึ้น และลดจำนวนการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นลงได้ด้วย อ่านบทความฉบับเต็มได้ ที่นี่

ผลกระทบของการผ่าตัดคลอดต่อแม่และลูก โดย Quali-Dec ร่วมกับ Thai PBS

18 กันยายน 2566

โครงการคลอดปลอดภัยจับมือกับ Thai PBS ให้ความรู้เรื่องผลกระทบของการผ่าตัดคลอดต่อสุขภาพของมารดาและทารก ผ่านรายการ “รู้สู้โรค ตอน ผลกระทบของการผ่าตัดคลอดต่อสุขภาพมารดาและทารกในอนาคต” โดยมีผู้ประสานงานโครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย ผศ. นพ. เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ร่วมเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ในครั้งนี้

งานวิจัยจากโครงการ Quali-Dec ประเทศอาร์เจนติน่า

10 กันยายน 2566

คลอดอย่างไร ใครควรเป็นคนเลือก?

งานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นจากโครงการวิจัย Quali-Dec คลอดปลอดภัย ในประเทศอาร์เจนติน่า เป็นงานวิจัยที่สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสตรีตั้งครรภ์พร้อมด้วยครอบครัว ในการร่วมกันตัดสินใจเลือกวิธีการคลอด ภายใต้บริบทกฎหมายที่ให้สิทธิการคลอดอย่างมีมนุษยธรรมแก่สตรีตั้งครรภ์

ผลสรุปพบว่า แม้ว่าจะมีกฎหมายเพื่อเอื้อให้สตรีตั้งครรภ์ได้รับอำนาจเพิ่มขึ้นในการร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดของตนเองร่วมกับแพทย์และสามารถร้องขอความรู้ที่ถูกต้องครบถ้วนได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้อัตราการผ่าตัดคลอดโดยไม่ได้มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นทางการแพทย์ลดลง ในทางตรงกันข้ามกลับลดทอนอำนาจของแพทย์ที่จะใช้ในการให้ความรู้ในเชิงการแพทย์เพื่อเกลี้ยกล่อมให้สตรีตั้งครรภ์เลือกวิธีการคลอดที่เหมาะสมลงด้วย

โครงการวิจัยของเราดำเนินโครงการอยู่ใน 4 ประเทศพร้อมกันทั่วโลกนะคะ ทั้งประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอาร์เจนติน่า และประเทศเบอร์กิน่าฟาโซ เพื่อหาวิธีการลดการผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของแม่และทารกค่ะ

สามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ https://reproductive-health-journal.biomedcentral.com/…

งานวิจัยตีพิมพ์ชิ้นล่าสุดจากโครงการ Quali-Dec ประเทศไทย

30 สิงหาคม 2566


งานวิจัยเรื่อง “Auditing cesarean section indications in women of Groups 1 to 4 of Robson’s Ten-Group Classification System: A descriptive study at a university hospital in Thailand” (การตรวจสอบข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดในสตรีตั้งครรภ์กลุ่มที่ 1 – 4 ในระบบการจำแนกของรอบสัน: การศึกษาเชิงพรรณนาในมหาวิทยาลัยโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศไทย) ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2023 ที่ Open Research Europe (อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://open-research-europe.ec.europa.eu/articles/3-126/v1 )

โดยเป็นงานวิจัยที่ศึกษาระบบการตรวจสอบข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ (กลุ่มที่ 1-4) ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำในการที่จะต้องได้รับการผ่าตัดคลอด และพบว่าการผ่าตัดตลอดที่เกิดขึ้นในกลุ่มนี้บางส่วน อาจจะไม่ได้มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมและจำเป็นมากพอ

โดยข้อบ่งชี้นี้อาจเป็นเพียงข้ออ้างโดยมีแรงจูงใจมาจากความต้องการที่จะผ่าตัดคลอดของคุณแม่ผู้คลอดเอง หรือความต้องการจัดการเวลาได้ของสูติแพทย์

การตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการครั้งที่ 4 รพ. เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และรพ. เชียงรายประชานุเคราะห์

22 สิงหาคม 2566

เมื่อวันที่ 21 และ 22 สิงหาคม 2566 โครงการ Quali-Dec ได้มีการจัดการติดตามตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของโครงการวิจัยในโรงพยาบาลที่ร่วมอยู่ในโครงการอีกสองแห่ง คือ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยมี Project Coordinator และ Opinion Leader ของทั้งสองโรงพยาบาลเข้าร่วมให้ข้อมูลและให้คำแนะนำในการดำเนินงาน

การตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการครั้งที่ 4 ใน 3 โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ

17 สิงหาคม 2566

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา โครงการวิจัย Quali-Dec คลอดปลอดภัย ได้มีการติดตามตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าของการเก็บข้อมูลวิจัยในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการพร้อมกัน 3 แห่งด้วยกัน คือ รพ. ศรีนครินทร์ รพ. ขอนแก่น และ รพ.อุดรธานี

แต่ละโรงพยาบาลได้ร่วมนำเสนอความก้าวหน้าในการนำแนวปฏิบัติต่าง ๆ ของโครงการวิจัยไปใช้เพื่อลดอัตราการผ่าตัดคลอดโดยไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยในแต่ละโรงพยาบาลก็มีความก้าวหน้าที่มองเห็นได้ชัดเจน

อาทิ ความสำเร็จของรพ. ศรีนครินทร์ในการสนับสนุนโครงการเพื่อนผู้คลอด ซึ่งได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกอย่างมากจากผู้เข้าร่วมโครงการ รพ. ขอนแก่น ซึ่งในตอนนี้ก็ได้เริ่มนำเอาโครงการเพื่อนผู้คลอดไปใช้ในโรงพยาบาลแล้ว และรพ.อุดรธานีที่เริ่มเห็นเทรนด์ที่ลดลงของอัตราการผ่าตัดคลอดอย่างต่อเนื่อง

ทางโครงการขอขอบพระคุณอาจารย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในโครงการทุกท่านที่ให้ความร่วมมือด้วยดีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

อัพเดทการประกาศจุดยืนเรื่องการผ่าตัดคลอดจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

10 สิงหาคม 2566

ประกาศจุดยืนเรื่องการผ่าตัดคลอด จากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2566

๑. การผ่าตัดคลอด ควรทําในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คือเมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรงที่จะทําให้การคลอดทางช่องคลอดมีความเสี่ยง

๒. ประชาชนควรทราบว่า การผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารกมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด ซึ่ง อาจจะเป็นผลที่เกิดจากการผ่าตัดหรือการให้ยาระงับความรู้สึก

๓. ก่อนการผ่าตัดคลอด สตรีตั้งครรภ์ทุกราย ควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเหมาะสมเกี่ยวกับประโยชน์และ ความเสี่ยงของการผ่าตัดคลอด จากบุคลากรทางการแพทย์จนเข้าใจดี และลงนามยิยยอมเข้ารับการผ่าตัด

๔. การผ่าตัดคลอดตามคําร้องขอของมารดา (maternal request) เป็นการผ่าตัดคลอดที่เกิดจากความต้องการของ สตรีตั้งครรภ์หรือญาติโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สูตินรีแพทย์ควรสอบถามเหตุผล รับฟังความต้องการ อภิปรายความเสี่ยงและประโยชน์ของการผ่าตัดคลอดให้สตรีตั้งครรภ์รับทราบจนเข้าใจดีแล้ว หากยังยืนยันที่จะทำการผ่าตัดคลอด ให้ลงนามในเอกสารแสดงความจำนงและใบยินยอมรับการผ่าตัด กรณีที่สูตินรีแพทย์ไม่เห็นด้วยที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้แนะนำหรือส่งต่อสตรีตั้งครรภ์ไปพบสูตินรีแพทย์ท่านอื่น

๕. การผ่าตัดคลอดแบบวางแผนล่วงหน้า (scheduled elective cesarean section) เป็นการทําผ่าตัดที่มีการเตรียมการและระบุวันเวลาไว้ชัดเจน แนะนําให้ทําผ่าตัดที่อายุครรภ์ตั้งแต่ ๓๙ สัปดาห์เป็นต้นไป

๖. การที่แพทย์แนะนําหรือชักจูงให้สตรีตั้งครรภ์มาผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ถือเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมทางการแพทย์

๗. อัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ

๘. สถานพยาบาล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson Classification เพื่อประโยชน์ในการประเมินและติดตามข้อมูลสำหรับการวางแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

ที่มา: เว็บไซต์ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย (https://www.rtcog.or.th/news/view/54)

โครงการคลอดปลอดภัยจับมือกับ ThaiPBS ผลิตสื่อให้ความรู้เรื่องการคลอด

26 กรกฎาคม 2566

โครงการคลอดปลอดภัยจับมือกับไทยพีบีเอส เพื่อผลักดันการประชาสัมพันธ์เรื่องการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น ผ่านรายการสารคดีทางการแพทย์ที่ผลิตโดยไทยพีบีเอส

โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมาเป็นการอัดรายการสัมภาษณ์ ผศ. นพ. เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ผู้ประสานงานโครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย ในหัวข้อที่เกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพของการผ่าตัดคลอดที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับแม่และทารกในระยะสั้นและระยะยาว

โดยในการบันทึกเทปครั้งต่อ ๆ ไปจะเป็นการสัมภาษณ์อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านสูตินรีเวชศาสตร์ท่านอื่น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เกี่ยวกับผลกระทบของการผ่าตัดคลอดในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการให้นมแม่ วิธีการที่จะใช้ขับเคลื่อนเพื่อรณรงค์ให้มีการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น และส่วนของนโยบายในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเกี่ยวกับการคลอดที่ปลอดภัยในประเทศไทย

ทางโครงการขอขอบพระคุณความร่วมมือจาก Thai PBS ในการบันทึกเทปและอาจารย์หมอที่ตอบรับเข้าร่วมเป็นวิทยากรทุก ๆ ท่านมา ณ ที่นี้

การประชุม Refreshing Training เพื่อสรุปความคืบหน้าของโครงการในแปดโรงพยาบาล

22 มิถุนายน 2566

โครงการวิจัย Quali-Dec คลอดปลอดภัยเดินทางมาได้เกินครึ่งทางแล้ว

โดยในวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา เราได้มีการจัดประชุมโรงพยาบาลทั้ง 8 แห่งที่เข้าร่วมโครงการวิจัย อันได้แก่ รพ. ศิริราช รพ. ราชวิถี รพ. นพรัตนราชธานี รพ. เจ้าพระยาอภัยภูเบศวร รพ. เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ. ศรีนครินทร์ รพ. ขอนแก่น และรพ. อุดรธานี เพื่ออัพเดทข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการในระยะถัดไป

โครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ของเรา พยายามขับเคลื่อนการลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะสั้นและระยะยาวของทั้งคุณแม่และทารก ผ่านทางการให้ความรู้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ การมีผู้นำทางความคิดในโรงพยาบาล การมีกระบวนการตรวจสอบและให้ข้อคิดเห็น ตลอดจนการให้มีเพื่อนผู้คลอดเข้าไปให้กำลังใจคุณแม่ในระหว่างที่รอคลอด

โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมาธิการยุโรปและองค์การอนามัยโลก โดยจะยังดำเนินการเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลทั้งแปดแห่งที่เข้าร่วมโครงการต่อไปอีกหนึ่งปี เพื่อสรุปผลการวิจัยถึงวิธีการที่เหมาะสมในการลดจำนวนการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

การตรวจเยี่ยมความคืบหน้า ครั้งที่ 3 ที่รพ. นพรัตน์ราชธานี

23 พฤษภาคม 2566

การตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าโครงการที่รพ. นพรัตน์ราชธานี

วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 โครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย นำโดย ศ. คลินิก นพ. ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร ผู้ประสานงานโครงการ ได้มีการตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าของการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้แนวปฏิบัติเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี หนึ่งในแปดโรงพยาบาลต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการวิจัย Quali-Dec

ทีมงานโครงการที่รพ. นพรัตน์ราชธานี นำโดย พญ. อรดา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา Opinion Leader และ คุณสายสุนี ทองสัมฤทธิ์ ได้ร่วมกันแชร์ผลการปฏิบัติงานและความคืบหน้าของโครงการ โดยได้รับคำแนะนำและข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการเก็บข้อมูลและการนำแนวปฏิบัติไปใช้ในโรงพยาบาลจากอาจารย์ผู้ประสานงานโครงการต่อไป

โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานีนับเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ ที่ได้นำเอาโครงการเพื่อนผู้คลอด (Labour Companionship) ไปปรับใช้ในโรงพยาบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม และได้รับผลตอบรับเชิงบวกทั้งจากแม่ผู้คลอดและเพื่อนผู้คลอด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสามี ว่าได้รับประสบการณ์คลอดในเชิงบวกเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยทำให้การคลอดธรรมชาติราบรื่นมากขึ้นด้วย

ขอบพระคุณทีมงานน่ารักเข้มแข็งของโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานีทุกท่านด้วยนะคะ สุดยอดมาก ๆ ค่ะ

การตรวจเยี่ยมความคืบหน้า ครั้งที่ 3 ที่รพ. เชียงรายประชานุเคราะห์

15 พฤษภาคม 2566

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โครงการ Quali-Dec ได้มีการตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของการเก็บข้อมูลวิจัยที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดโรงพยาบาลหลักที่เข้าร่วมโครงการวิจัยในครั้งนี้

โดยมีผู้ประสานงานโครงการ นพ. พิษณุ ขันติพงษ์ และ พญ. กรรณิการ์ ไซสวัสดิ์ Opinion Leader ของโครงการ พร้อมทั้งแพทย์และพยาบาลที่เข้าร่วมในทีมงานเข้ารับฟังการนำเสนอและรับฟังข้อคิดเห็นและคำแนะนำจากทั้งหัวหน้าโครงการและผู้ประสานงานโครงการ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการจัดการและการเก็บข้อมูลวิจัย เพื่อก้าวเข้าสู่ช่วงต่อไปของการดำเนินโครงการ

ขอบคุณทีมงานที่น่ารักและทีมเวิร์คแข็งแกร่ง จากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์เป็นอย่างสูง

งานวิจัยชิ้นที่สองจากโครงการ Quali-Dec ประเทศไทยได้รับการตีพิมพ์แล้ว

11 May 2566

งานวิจัยจากโครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ประเทศไทย ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในห้าเปเปอร์ไฮไลต์ประจำสัปดาห์ ในเว็บไซต์ The Maternal Health Task Force อันเป็นเว็บไซต์ที่ผลิตโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านสุขภาพแม่และเด็ก (Center of Excellence in Maternal and Child Health – MCH) ที่กำกับดูแลโดย Harvard Chan School โรงเรียนสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

งานวิจัยระยะก่อรูป เรื่อง “”Because it eases my Childbirth Plan”: a qualitative study on factors contributing to preferences for caesarean section in Thailand” เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยจากโครงการ Quali-Dec ในประเทศไทย เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดความโน้มเอียงไปทางการผ่าตัดคลอด ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในฐานข้อมูล PubMed ออนไลน์สาขาการแพทย์ที่มีชื่อเสียง

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของงานวิจัยได้ที่ (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/37095449/)

โครงการคลอดปลอดภัยให้สัมภาษณ์นิตยสาร KKU Research Outreach

28 เมษายน 2566

“คลอดปลอดภัย” บทสัมภาษณ์ฉบับเต็มกับ KKU Research Outreach มาแล้วค่า

โครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ได้รับเกียรติจากนิตยสารออนไลน์ KKU Research Outreach ให้เป็นโครงการวิจัยไฮไลต์ ของนิตยสารฉบับที่ 6 ประจำเดือนเมษายน 2566 ให้สัมภาษณ์โดยหัวหน้าโครงการของเรา ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ ค่ะ

อ่านนิตสารออนไลน์ได้ที่นี่ — https://anyflip.com/qthop/byig

ขอบคุณทีมงาน KKU Research Outreach อย่างยิ่งนะคะที่ให้ความสนใจกับโครงการคลอดปลอดภัยของเราค่ะ

งานวิจัยตีพิมพ์ฉบับใหม่ของโครงการ Quali-Dec จากประเทศเบอร์กิน่า ฟาโซ

ประเทศเบอร์กิน่า ฟาโซ ซึ่งหนึ่งในสี่ประเทศที่เข้าร่วมโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ได้ตีพิมพ์รายงานการวิจัยเรื่อง Women’s and health providers’ perceptions of companionship during labor and childbirth: a formative study for the implementation of WHO companionship model in Burkina Faso (การรับรู้ของสตรีตั้งครรภ์และบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับเพื่อนผู้คลอดในช่วงระหว่างการเจ็บครรภ์และการคลอด: งานวิจัยระยะก่อรูปเรื่องการนำเอาแนวคิดต้นแบบเรื่องเพื่อนผู้คลอดของ WHO ไปปรับใช้ในเบอร์กิน่า ฟาโซ) ตีพิมพ์ที่ REPORODUCTIVE HEALTH, 20, 46 (21 March, 2023).
https://doi.org/10.1186/s12978-023-01597-w

โดยงานวิจัยฉบับนี้ได้สำรวจความคิดเห็น ทัศนคติ และการรับรู้ของสตรีตั้งครรภ์ ครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์ ถึงมุมมองที่มีต่อการมี “”เพื่อนผู้คลอด” คอยให้ความช่วยเหลือในระหว่างที่เจ็บครรภ์และในระหว่างการคลอด

งานวิจัยฉบับล่าสุดได้เผยให้เห็นว่าทั้งสตรีตั้งครรภ์และบุคลากรทางการแพทย์ ต่างก็สนับสนุนและเห็นถึงประโยชน์ของการมีเพื่อนผู้คลอดอยู่กับสตรีผู้คลอดในระหว่างการคลอด อย่างไรก็ตามก็ยังพบอุปสรรคบางประการ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและความเชื่อแอฟริกัน และอุปสรรคในเชิงกายภาพพื้นที่ โดยสามารถสรุปอุปสรรคหลัก ๆ ได้ 4 ประการด้วยกัน คือ

  • พื้นที่ในห้องคลอดและห้องรอคลอดไม่เพียงพอ
  • ไม่มีห้องส่วนตัวสำหรับสตรีผู้คลอด
  • สตรีผู้คลอดไม่ได้เลือกเพื่อนผู้คลอดด้วยตัวเอง แต่ครอบครัวจะเป็นคนเลือกให้
  • นโยบายของรพ. ไม่อนุญาตให้เพื่อนผู้คลอดเข้าไปใน ห้องคลอดด้วย

Webinar “คลอด (อย่างไรให้) ปลอดภัย” ครั้งที่ 7 ร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม

3 มีนาคม 2566

การบรรยาย Webinar ครั้งที่ 7 เรื่อง “คลอด(อย่างไรให้)ปลอดภัย” ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีเจ้าภาพคือวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม นับมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและได้รับความสนใจอย่างสูงจากทั้งคณาจารย์ นักศึกษาพยาบาล รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ห้องคลอดจากโรงพยาบาลในพื้นที่อีกหลายโรงพยาบาลด้วย

ทางโครงการขอขอบพระคุณความร่วมมือและความช่วยเหลือต่าง ๆ ของทางวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ หวังว่าจะได้มีโอกาสจัดการบรรยายในหัวข้ออื่น ๆ ต่อไปในอนาคตนะคะ 🥳🥰😄

นักวิจัยจากสถาบันร่วมโครงการ Quali-Dec เข้าร่วมเยี่ยมชมและเก็บข้อมูลวิจัย

9 กุมภาพันธ์ 2566

เมื่อวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ดร. Kristi Sidney Annerstedt นักวิจัยจากสถาบัน Karolinska Institutet ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันความร่วมมือโครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ได้เดินทางมาที่จังหวัดขอนแก่นเพื่อมาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนโครงการวิจัย สัมภาษณ์ผู้นำทางความคิด และเยี่ยมโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ Quali-Dec ทั้งสองแห่งในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ รพ. ศรีนครินทร์ และรพ. ขอนแก่น

ในการนี้ Opinion Leaders ของทั้งสองโรงพยาบาล คือ ผศ.พญ. รัตนา คำวิลัยศักดิ์ และ พญ.อุษณีย์ สังคมกำแหง พร้อมทั้งทีมงานวิจัย Quali-Dec ของทั้งสองโรงพยาบาลได้ร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูลสัมภาษณ์เรื่องความคืบหน้าของโครงการวิจัยในแต่ละโรงพยาบาลด้วย

ต้องขอกราบขอบพระคุณ Opinion Leaders ทั้งสองท่าน รวมทั้งทีมงานเก็บข้อมูลวิจัยของทั้งสองโรงพยาบาลเป็นอย่างสูง

การตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของงานวิจัย Quali-Dec ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

13 มกราคม 2566

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ศ.คลินิก นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร ผู้ประสานงานโครงการ Quali-Dec ประเทศไทย ได้เข้าตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของงานวิจัยที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ผ่านระบบ Zoom ทางออนไลน์ โดยทางทีมงานวิจัยของโรงพยาบาลได้นำเสนอผลดำเนินการ โดยนพ. ดิฐกานต์ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้ทีมงานของโรงพยาบาลสามารถนำไปพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการเก็บข้อมูลวิจัยและการนำแนวทาง Quali-Dec ไปใช้ปฏิบัติ เพื่อลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

การตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของโครงการวิจัย ครั้งที่ 2 โรงพยาบาลขอนแก่น

21 ธันวาคม 2565

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทีมงานโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ได้เข้าตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลวิจัยที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการ

ขอขอบพระคุณ พญ. อุษณีย์ สังคมกำแหง Opinion Leader และทีมงานคุณภาพทุกท่านของรพ.ขอนแก่นเป็นอย่างสูงที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และร่วมแชร์ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินโครงการในเฟสต่อ ๆ ไป

โดยการจัดเก็บข้อมูลนี้จะดำเนินการต่อไปและจะมีการตรวจเยี่ยมความคืบหน้าอีกหนึ่งครั้งในเฟสแรกในอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า เพื่อที่จะสรุปข้อมูลได้ในเบื้องต้นเกี่ยวกับผลของการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

ข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความโน้มเอียงที่จะเลือกการผ่าตัดคลอด

16 ธันวาคม 2565

ส่วนหนึ่งในงานวิจัยของโครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ที่กำลังดำเนินการเก็บข้อมูลใน 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศเบอร์กิน่าฟาโซ่ และประเทศอาร์เจนติน่า พบความแตกต่างของกลุ่มคุณแม่ที่ต้องการผ่าตัดคลอดมากกว่าคลอดธรรมชาติด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันไปตามสิ่งแวดล้อมของแต่ละสถานที่

ในประเทศไทยพบว่า คุณแม่ที่มักจะเลือกการผ่าตัดคลอดมักจะเป็นกลุ่มคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปี ที่ฝากครรภ์แบบส่วนตัวหรือแบบพิเศษ และมีประวัติการผ่าตัดคลอดมาก่อนแล้ว

ในอีกสามประเทศแม้จะมีความแตกต่างด้านปัจจัยอยู่บ้าง แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันตรงที่คุณแม่ที่มักจะโน้มเอียงไปในทางเลือกการผ่าตัดคลอดมักจะเป็นกลุ่มคุณแม่ที่ฝากครรภ์เเบบส่วนตัวหรือแบบพิเศษ

งานวิจัยชิ้นนี้ยังอยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลเบื้องต้น โดยจะใช้เวลาเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติมและวิเคราะห์ในรายละเอียดต่อไป

การตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าของโครงการ Quali-Dec ครั้งที่ 2 ณ โรงพยาบาลอุดรธานี

25 พฤศจิกายน 2565

เมื่อศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทีมงาน Quali-Dec นำทีมโดย ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการ และผศ. นพ. เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ผู้ประสานงานโครงการ ได้เข้าตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินการวิจัยครั้งที่ 2 ณ ร.พ.อุดรธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย)

ทางทีมงานของโรงพยาบาลอุดรธานี นำโดย Opinion leader อาจารย์นพ. เมธา ทรงธรรมวัฒน์ ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและได้นำเสนอผลการเก็บข้อมูลวิจัย รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังข้อเสนอแนะจากหัวหน้าโครงการ

โดยโครงการวิจัยนี้จะมีการเก็บข้อมูลและทดลองนำเอาวิธีที่ไม่ใช่วิธีการทางการแพทย์ (non-clinical interventions) นำไปปฏิบัติจริงในโรงพยาบาล เพื่อหาวิธีลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

การตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าของโครงการ Quali-Dec ครั้งที่ 2 ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ. ขอนแก่น และ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย

22 พฤศจิกายน 2565

ช่วงปลายเดือนพฤจิกายนไปจนถึงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ โครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ได้เริ่มดำเนินการเข้าตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าของงานวิจัยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ได้เข้าร่วมโครงการทั้ง 8 แห่ง

โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คณะเข้าตรวจเยี่ยมติดตามโครงการ นำโดย ผศ. นพ. เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ได้เข้าตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของงานวิจัยที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น

และในวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ประเทศไทย ได้เข้าตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของงานวิจัยที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย

การเข้าตรวจเยี่ยมความคืบหน้าในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ของโครงการนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเก็บข้อมูลวิจับ รวมไปถึงสอบถามเกี่ยวกับทิศทางการเก็บข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องอย่างละเอียด

การเก็บข้อมูลวิจับโครงการ Quali-Dec นี้ จัดทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการหาวิธีการ (ที่ไม่ใช่วิธีการทางการแพทย์) เพื่อช่วยลดจำนวนการผ่าตัดคลอดที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยโครงการนี้จะดำเนินการเก็บข้อมูลไปจนกระทั่งถึงสรุปผลการวิจัยภายในปี 2024 โดยประมาณ

การนำเสนอโครงการ Quali-Dec ประเทศไทยในการประชุมสามัญประจำปีของ RTCOG

วันที่ 28 ตุลาคม 2565


ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการ QUALI-DEC แห่งประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมนำเสนอโครงการ QUALI-DEC และความคืบหน้าของโครงการ ต่อที่ประชุมสามัญประจำปีของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 37 ประจำปี 2565 (The 37th RTCOG General Assembly 2022) ที่ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรม รอยัล คลีฟ บีช พัทยา

โดยในการนำเสนอครั้งนี้ ศ. นพ. ภิเศก ได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของโครงการ ตลอดกระบวนวิธีการในการศึกษาวิจัยของโครงการ QUALI-DEC ในการใช้กลวิธีที่ไม่ใช่วิธีทางการแพทย์ทั้ง 4 องค์ประกอบ ได้แก่ การใช้ผู้นำทางความคิด การตรวจสอบและให้ข้อมูลย้อนกลับ การให้องค์ความรู้ และการมีเพื่อนช่วยคลอด เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นในประเทศไทยที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในอัตราสูงจนเป็นที่น่าวิตก ท้ายที่สุดยังได้ฝากขอความร่วมมือจากสูตินรีแพทย์ในประเทศไทย ให้หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างจริงจังเพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เข้าสู่นโยบายในระดับประเทศในอนาคตอันใกล้นี้

General Assembly การประชุมร่วมกลุ่มนักวิจัยจากโครงการวิจัย Quali-Dec 2022

วันที่ 29 กันยายน 2565

ระหว่างวันที่ 26-29 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะวิจัยโครงการ Quali-Dec หรือโครงการวิจัยเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น ได้มีการจัดการประชุมรวมตัวคณะผู้วิจัยจาก 4 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม เบอร์กิน่าฟาโซ และอาร์เจนติน่า โดยมีเจ้าภาพร่วมคือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งชาติฝรั่งเศส (IRD) สถาบันวิจัยประชากรเพื่อการพัฒนา (CEPED) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยการประชุมในครั้งนี้ได้จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

วัตถุประสงค์หลักของการจัดการประชุมรวมตัวคณะวิจัยในครั้งนี้ก็เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร อัพเดทข้อมูล และร่วมระดมสมองแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินการโครงการจากทั้งสี่ประเทศ เพื่อจะสามารถวางทิศทางและพัฒนาแผนงานการวิจัยให้ดำเนินต่อเนื่องไปได้อย่างราบรื่นเหมาะสมในปีต่อ ๆ ไป

โดยการประชุมในครั้งนี้มีคณะผู้ดำเนินการวิจัยจากประเทศไทย ประกอบด้วย ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะวิจัย Quali-Dec ประเทศไทย ผศ. นพ. เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ผู้ประสานงานโครงการ ตลอดจนผู้จัดการฝ่ายข้อมูล และผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารโครงการ ได้เข้าร่วมนำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการและผลการวิจัยด้วย โดยผลสรุปจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคณะวิจัยอีกสี่ประเทศนี้ จะได้นำมาใช้ปรับปรุงพัฒนาโครงการวิจัยในประเทศไทยต่อไป

โครงการ QUALI-DEC ร่วมจัดอบรมการทำวิจัยให้คณะแพทย์ชาวต่างชาติ

6 กันยายน 2565

ในช่วงระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม – 9 กันยายน 2565 คณะแพทยศาสตร์และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการจัดฝึกอบรมการทำวิจัยเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติด้านอนามัยเจริญพันธุ์ (Virtual Short Course on Implementation Research in Sexual and Reproductive Health, 15 August – 9 September 2022)


การอบรมในครั้งนี้จัดขึ้นทางออนไลน์ผ่านระบบ Zoom โดยจะใช้ระยะเวลาอบรมหนึ่งเดือน มีผู้เข้าร่วมเป็นบุคลากรทางการแพทย์ชาวต่างชาติที่อยู่ในร่วมในกลุ่มWHO Reginal and Country Offices and HRP Network ที่มีความสนใจในการทำวิจัยเข้าร่วมเป็นจำนวน 10 คน โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมมาจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย อาทิ ศรีลังกา อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เป็นต้น

การจัดอบรมในครั้งนี้ได้นำเอาตัวอย่างเรื่องการทำวิจัย Implementation Research จากโครงการ QUALI-DEC (คลอดปลอดภัย) มาเป็นแกนหลักในการฝึกอบรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เห็นภาพการจัดโครงการวิจัยที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งยังเป็นโครงการที่กำลังดำเนินการเก็บข้อมูลการวิจัยอยู่จริงในปัจจุบัน

สำหรับวิทยากรผู้ให้ความรู้นั้นได้รับความกรุณาจากคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณาจารย์ผู้มีส่วนร่วมในโครงการวิจัย QUALI-DEC เป็นผู้บรรยาย โดยแบ่งเป็นหัวข้อต่าง ๆ อาทิ How IR works, Stakeholder analysis and community engagement, Proposal component, Study design, Formative research, Data collection and analysis, Communication, Integrating IR into the health system เป็นต้น

คณะแพทยศาสตร์และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการสนับสนุนทุนการจัดการฝึกอบรมนี้จากฝ่ายการวิจัยอนามัยเจริญพันธ์ โดยองค์การอนามัยโลกให้เป็นศูนย์กลางในส่วนภูมิภาคเอเชียในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการอนามัยเจริญพันธุ์ผ่านทางการจัดเวิร์คช็อป คอร์สการเรียนระยะสั้น รวมไปถึงการให้ทุนเรียนและทำวิจัยในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกอีกด้วย

โครงการวิจัย QUALI-DEC ร่วมจัด Webinar “คลอด (อย่างไรให้) ปลอดภัย” ครั้งที่ 4-5

22 สิงหาคม 2565

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา โครงการวิจัย QUALI-DEC คลอดปลอดภัยได้รับเกียรติจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น ให้ร่วมจัด Webinar ในหัวข้อ “คลอด (อย่างไรให้) ปลอดภัย” โดยเรียนเชิญ ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย QUALI-DEC เป็นผู้บรรยาย

การจัด Webinar ในหัวข้อ “คลอด (อย่างไรให้) ปลอดภัย” นี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 และ 5 แล้ว โดยทางโครงการมุ่งเป้าหมายเพื่อเผื่อแพร่องค์ความรู้ให้กับนักเรียนนักศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสุขภาพ เช่น นักศึกษาพยาบาล ที่ในอนาคตจะเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเรื่องการคลอดอย่างปลอดภัยให้กับประชาชนได้ต่อไป


ขอขอบพระคุณคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น ที่เล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมนี้ด้วยค่ะ

ผู้สนใจสามารถรับชม Webinar ทั้งสองครั้งนี้ได้ผ่านทางช่อง YouTube: คลอดปลอดภัย Safe Birth Thailand จากลิงค์ด้านล่างนี้ค่ะ

Webinar#4 https://youtu.be/4SioMlxUxjs

Webinar#5 https://youtu.be/ZR7FYHpKVEE

ประธานโครงการ QUALI-DEC ร่วมบรรยายในงานประชุมวิชาการนานาชาติ The 61st TAOG Annual Congress

13 สิงหาคม 2565

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ ในฐานะประธานสมาพันธ์สูตินรีแพทย์แห่งเอเชียและโอเชีย (AOFOG) และหัวหน้าโครงการ QUALI-DEC ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมบรรยายในการประชุมวิชาการนานาชาติ TAOG Annual Congress ครั้งที่ 61 ที่จัดโดยสมาพันธ์สูตินรีแพทย์แห่งประเทศไต้หวัน โดยได้บรรยายในหัวข้อเรื่อง “Collaborative effort to reduce unnecessary CS in Thailand” [การร่วมมือกันเพื่อลดการผ่าตัดคลอดในประเทศไทย] โดยเป็นการประชุมวิชาการทางออนไลน์


ในการนี้นพ. ภิเศก ได้กล่าวถึงโครงการ QUALI-DEC (คลอดปลอดภัย) อันเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวิจัยวิธีการลดการผ่าตัดคลอดในประเทศไทย โดยการใช้วิธีการที่ไม่ใช่วิธีการทางการแพทย์ 4 องค์ประกอบ โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการถึง 8 โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย เพื่อร่วมทำการวิจัยแบบนำไปปฏิบัติจริง เพื่อจะเก็บข้อมูลว่าองค์ประกอบทั้ง 4 ประการที่ได้นำไปใช้ปฏิบัติในโรงพยาบาลนั้น จะสามารถลดการผ่าตัดคลอดได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ผู้ที่สนใจสามารถรับฟังการบรรยายได้ (บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ) ด้านล่างนี้

โครงการ QUALI-DEC คลอดปลอดภัยเข้าร่วมงานวันแม่ 2022

11 สิงหาคม 2565

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โครงการ QUALI-DEC คลอดปลอดภัย ได้รับเกียรติจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เข้าร่วมจัดบูทในงานวันแม่เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการคลอดปลอดภัย โดยงานนี้จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ขอนแก่น

ในงานได้มีการจัดบูทเพื่อส่งเสริมสุขภาพคุณแม่และลูกน้อยมากมาย รวมทั้งมีกิจกรรมการแสดงของเด็ก ๆ ตลอดจนการสัมภาษณ์คุณแม่และคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพของคุณแม่และทารกในช่วงสถานการณ์โควิทนี้ และโครงการอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ อาทิ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และโครงการธนาคารนมแม่ เป็นต้น

การตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ที่รพ. ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น

9 สิงหาคม 2565

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โครงการวิจัย QUALI-DEC (คลอดปลอดภัย) ได้การตรวจเยี่ยมความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ ณ รพ. ศรีนครินทร์ จ. ขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดโรงพยาบาลในประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้

ในการนี้ ผศ. นพ. เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ผู้ประสานงานโครงการ ได้เข้าพบและแลกเปลี่ยนหารือกับ ผศ.พญ.รัตนา คำวิลัยศักดิ์ Opinion Leader ของโครงการและคณะแพทย์พยาบาลผู้เข้าร่วมโครงการ ถึงความคืบหน้า อุปสรรค และความท้าทายต่าง ๆ ในการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยในครั้งนี้ โดยได้รับคำแนะนำและข้อคิดเห็น ตลอดจนกำลังใจจากผู้ประสานงานเพื่อนำไปปรับใช้ในการเก็บข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ที่รพ. เชียงรายประชานุเคราะห์

1 สิงหาคม 2565

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ทีมงานโครงการวิจัย Quali-Dec เพื่อลดจำนวนการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ (คลอดปลอดภัย) นำโดย ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย และนพ. พิษณุ ขันติพงษ์ ผู้ประสานงานหลัก ได้เข้าตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกับทีมงานเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ. เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 โรงพยาบาลหลักที่เข้าร่วมโครงการวิจัยในครั้งนี้ โดยได้รับการต้อนรับจาก พญ. กรรณิการ์ ไซสวัสดิ์ Opinion Leader ของโครงการประจำรพ. เชียงรายประชานุเคราะห์เป็นอย่างดียิ่ง

การตรวจเยี่ยมเพื่อติดตามความคืบหน้างานวิจัยในครั้งนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ของรพ. ได้มีโอกาสแชร์ข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินงานวิจัยในระดับปฏิบัติการ รวมถึงปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ในการเก็บข้อมูล ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำและข้อคิดเห็น ตลอดจนกำลังใจจากหัวหน้าโครงการและผู้ประสานงานหลักเพื่อนำไปปรับใช้ในการเก็บข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


โครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) นี้ ยังดำเนินการเก็บข้อมูลจากอีก 8 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เป็นระยะเวลาอีกเกือบสองปี เพื่อหาทางลดจำนวนการผ่าตัดคลอดที่ไม่ได้มีความจำเป็นทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวกับทั้งแม่และทารกต่อไป

หัวหน้าโครงการวิจัย QUAL-DEC ติดอันดับใน World’s Top 2% Scientists จากการจัดอันดับโดย Stanford University ปี 2021

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565

สำนักพิมพ์ Elsevier บริษัท SciTech Strategies และ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุดใน Top 2% ของโลก (World’s Top 2% Scientists by Stanford University) ปี 2021 ในสาขาวิชาต่างๆ

การจัดอันดับในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 22 สาขาหลัก 176 สาขาย่อย รวมนักวิจัยมากกว่า 100,000 คน การคัดเลือกและจัดอันดับนี้ประเมินจากการวิเคราะห์อิทธิพลของงานวิจัยที่มาจากการอ้างอิงบทความที่ตีพิมพ์จากฐานข้อมูล Scopus ตั้งแต่ปี 1996 – 2020 โดยใช้ตัวชี้วัดที่หลากหลาย เช่น Citation, co-authorship, และ h-index จัดลำดับนักวิทยาศาสตร์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. จำแนกตามผลกระทบการอ้างอิงตลอดอาชีพวิทยาศาสตร์ (career-long citation impact) จนถึงสิ้นปี 2020 และ 2. จำแนกตามผลกระทบการอ้างอิงเฉพาะปี 2020 (citation impact during the single calendar year 2020)  โดยข้อมูลการจัดลำดับสามารถดูได้ที่ Data for “Updated science-wide author databases of standardized citation indicators”

ในการจัดอันดับครั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิเศก ลุมพิกานนท์ จากสาขาวิชาสูตินรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัย QUALI-DEC เป็นหนึ่งในนักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์และอ้างอิงสูงที่สุดติด World’s Top 2% Scientists by Stanford University ปี 2021 โดยได้ลำดับที่ 945 จากจำนวนนักวิจัยทั้งหมด 224,174 คน ในสาขาสูติศาสตร์และการอนามัยเจริญพันธ์ (Obstetrics & Reproductive Health)

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก https://elsevier.digitalcommonsdata.com/datasets/btchxktzyw/3

การตรวจเยี่ยมโครงการวิจัย QUALI-DEC ณ รพ. ขอนแก่น อย่างเป็นทางการครั้งที่ 1

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะทำงานโครงการวิจัย QUALI-DEC (คลอดปลอดภัย) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมความก้าวหน้ากับโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ได้เข้าร่วมโครงการวิจัยเพื่อลดจำนวนการผ่าตัดคลอดที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

ในการนี้ ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ พร้อมด้วย ผศ. นพ. เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ผู้ประสานงานหลักของโครงการ ได้เข้าพบและหารือกับคณะทีมงานวิจัยของโรงพยาบาลขอนแก่น นำโดย พญ.อุษณีย์ สังคมกำแหง เพื่อรับฟังความคิบหน้าของการดำเนินโครงการ ร่วมไปถึงปัญหาต่าง ๆ และข้อแนะนำเพื่อพัฒนาการเก็บข้อมูลวิจัยให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของโรงพยาบาลและสถานการณ์แวดล้อมอื่น ๆ อันเกี่ยวข้องกับการดูแลสตรีตั้งครรภ์ในปัจจุบัน

การเก็บข้อมูลการวิจัยนี้จะดำเนินต่อไปอีกประมาณ 1 ปี โดยจะมีการตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าของโครงการนี้อีกครั้งในอีกสามเดือนข้างหน้านี้

การบรรยายเรื่อง วิธีการ (ที่ไม่ใช้วิธีการทางการแพทย์) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผ่าตัดคลอด

วันที่ 25 มิถุนายน 2565

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมประจำปีของสมาคมสูตินรีแพทย์แห่งฮ่องกง โดยทางโครงการ QUALI-DEC นำโดย ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ ในฐานะประธานสมาพันธ์สูตินรีแพทย์แห่งเอเชียและโอเชีย (AOFOG) และหัวหน้าโครงการ QUALI-DEC พร้อมด้วยผศ. นพ. เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ QUALI-DEC ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อเรื่อง “Non-clinical interventions to optimize caesarean section” [วิธีการที่ไม่ใช่วิธีการทางการแพทย์เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผ่าตัดคลอด]

จากข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โครงการ QUALI-DEC ได้ออกแบบองค์ประกอบจำนวน 4 องค์ประกอบเพื่อช่วยลดจำนวนการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น ได้แก่

1) การใช้ ‘ผู้นำทางความคิด‘ (opinion leaders) ในการให้ข้อมูลสนับสนุนและชี้นำทิศทางของเวชปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม

2) การทบทวนและตรวจสอบข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจผ่าตัดคลอด โดยจะมีการให้ผลสะท้อนกลับเพื่อตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น กระบวนการนี้เรียกว่า ‘การตรวจสอบและการให้ผลสะท้อนกลับ‘ (audit & feedback)

3) การให้ญาติใกล้ชิดหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้คลอดได้มีบทบาทในการสนับสนุนระหว่างการคลอด หรือ ที่เรียกว่า ‘เพื่อนผู้คลอด‘ (labour companionship)

4) ‘เครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ‘ (decision analysis tool – DAT – หรือ “คู่มือผู้คลอด”) เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการช่วยสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสตรีตั้งครรภ์ในช่วงระยะเวลาระหว่างการตั้งครรภ์และเตรียมการคลอด

การตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าอย่างเป็นทางการ (Monitoring Visit) ครั้งที่ 1 ของโครงการวิจัย QUALI-DEC ณ โรงพยาบาลอุดรธานี

วันที่ 24 มิถุนายน 2565

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย QUALI-DEC พร้อมด้วย ผศ. นพ. เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ผู้ประสานงานโครงการ ได้เข้าตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าของโครงการวิจัย QUALI-DEC อย่างเป็นทางการครั้งที่หนึ่ง ณ โรงพยาบาลอุดรธานี จ. อุดรธานี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ได้เข้าร่วมโครงการวิจัย QUALI-DEC นี้


โดยการเข้าตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้มีการเตรียมความพร้อมให้แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องผ่านการฝึกอบรมเรื่องการตรวจสอบและให้ผลสะท้อน (Audit and Feedback) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการทำวิจัยในครั้งนี้

ในการนี้ นพ. เมธา ทรงธรรมวัฒน์ ในฐานะ Opinion Leader หลักประจำโครงการ ณ โรงพยาบาลอุดรธานี พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ได้ให้การต้อนรับและได้รายงานความคืบหน้ารวมไปถึงปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ของการดำเนินโครงการที่ผ่านมา โดย ณ ปัจจุบัน รพ. อุดรธานีได้แสดงเจตจำนงในการเป็นโรงพยาบาลที่ส่งเสริมการคลอดทางช่องคลอด และยังได้มีการจัดการทำ Dashboard แสดงให้เห็นถึงอัตราการผ่าตัดคลอดและสัดส่วนของ Robson 1-5 โดยมีการอัพเดทข้อมูลอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

ในขณะเดียวกันทางโครงการได้นำส่ง คู่มือผู้คลอด (DAT) ฉบับพิมพ์สีให้แก่โรงพยาบาลเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการต่อไปด้วย และพร้อมที่จะสนับสนุนในเรื่องวัสดุอุปกรณ์และสื่อข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปได้โดยราบรื่น

งานวิจัยเรื่อง “เพื่อนช่วยคลอด” (Labour Companion) ของโครงการ QUALI-DEC ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์

วันที่ 31 พฤษภาคม 2565

งานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินการเรื่องเพื่อนผู้คลอด: วิจัยเชิงคุณภาพระยะก่อรูปในประเทศไทย” (Factors Influencing the Implementation of Labour Companionship: Formative Qualitative Research in Thailand) ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ BMJ Open ฉบับ May 2022 – Volume 12 – 5 (ดูลิงค์ที่นี่ – https://www.xn--42c6aa1a0amqc3ed0c.com/?page_id=1151)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้เพื่อนช่วยคลอดในประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกมีข้อเสนอแนะว่าผู้หญิงทุกคนควรได้รับโอกาสให้มีทางเลือกที่จะมีเพื่อนช่วยคลอดตลอดระยะเวลาเจ็บครรภ์คลอดจนถึงเด็กคลอดออกมา ทั้ง ๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของการมีเพื่อนช่วยคลอดอย่างชัดเจน เช่น ประสบการณ์การคลอดที่ดี ลดอัตราการผ่าตัดคลอด แต่พบว่าการมีเพื่อนช่วยคลอดกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย สำหรับประเทศไทยการมีเพื่อนช่วยคลอดยังไม่ถูกนำมาใช้กำหนดเป็นนโยบายสำหรับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์จำนวน 127 คน และจากแบบประเมินความพร้อมจากแปดโรงพยาบาล ข้อค้นพบจากงานวิจัยเชิงคุณภาพแบ่งออกได้เป็นสี่ประเด็น ดังนี้ ประโยชน์การมีเพื่อนช่วยคลอด บทบาทเพื่อนช่วยคลอด การฝึกอบรมเพื่อนช่วยคลอดและปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติ ข้อค้นพบแสดงให้เห็นว่า ผู้ให้บริการทางการแพทย์ผู้หญิงและญาติของพวกเธอ มีทัศนคติทางบวกต่อการมีเพื่อนช่วยคลอดข้อมูลจากการประเมินความพร้อมและข้อมูลเชิงคุณภาพมีความสอดคล้องกันที่แสดงให้เห็นความท้าทายในการให้มีเพื่อนช่วยคลอดได้ คือ การฝึกอบรมเพื่อนช่วยคลอด ข้อจำกัดพื้นที่ทางกายภาพ ความแออัด และนโยบายของโรงพยาบาล

หากเพื่อนช่วยคลอดได้รับการฝึกอบรมอย่างดีเกี่ยวกับ วิธีการสนับสนุนให้กำลังใจผู้หญิง การช่วยลดความปวด และการติดต่อกับผู้ให้บริการ เป็นกิจกรรมที่สามารถนำใช้เพื่อนช่วยคลอดสำหรับโรงพยาบาลในประเทศไทยได้ แต่อุปสรรคในการนำใช้เพื่อนช่วยคลอดจะต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะเพิ่มการประสบความสำเร็จที่มีความสัมพันธ์กับการอบรมและพื้นที่ทางกายภาพ ข้อค้นพบนี้ได้ถูกนำเสนอในยุทธศาสตร์ของโครงการ QUALI-DEC

หัวหน้าโครงการ QUALI-DEC ประเทศไทย เข้ารับตำแหน่งประธานสมาพันธ์ AOFOG

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการ QUALI-DEC แห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุมวิชาการประจำปีที่จัดโดยสมาพันธ์สูตินรีแพทย์แห่งเอเชียและโอเชียเนีย (AOFOG) ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2565 และได้เข้ารับมอบตำแหน่งประธานสมาพันธ์คนใหม่ ที่จะดำรงวาระระหว่างปี 2022-2024

โดยในการกล่าวสุนทรพจน์เพื่อเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ ศ. นพ. ภิเศก ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่สูตินรีแพทย์ในปัจจุบัน ที่จะช่วยสนับสนุนและดำเนินงานด้านการพัฒนาสุขภาพการเจริญพันธ์ุมนุษย์ โดยได้เน้นในเรื่องที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญในปัจจุบัน 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1. การดูแลป้องกันเพื่อลดจำนวนการเกิดมะเร็งปากมดลูก; 2. การลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์; 3. การป้องกันการใช้ความรุนแรงต่อสตรี; และ 4. ภาวะโลกร้อนอันจะมีผลต่อการเจริญพันธ์ุมนุษย์ โดยทั้ง 4 ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นหลักที่ทางสมาพันธ์จะได้ให้ความสำคัญในช่วงวาระการทำงานอีกสองปีข้างหน้านี้

การจัดบรรยายในรูปแบบ WEBINAR ครั้งที่ 2 โดยความร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โครงการ QUALI-DEC ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัด Webinar Special Talk ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “คลอด (อย่างไรให้) ปลอดภัย” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.น.พ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย QUALI-DEC ประเทศไทย มาเป็นวิทยากร โดยมีคณาจารย์และนักศึกษาพยาบาลจำนวน 70 คนเข้าร่วมฟังบรรยายในครั้งนี้ (สามารถรับชมวิดีโอบันทึกการบรรยายได้ทางช่องยูทูป “คลอดปลอดภัย Safe Birth Thailand” หรือคลิ๊กที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=of6Ac3YDjSM)

การจัด Webinar ในครั้งที่ 2 นี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการคลอดให้กับนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ที่กำลังจะจบการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้มีองค์ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคลอดไปเผยแพร่ต่อไปในอนาคต หลังจากที่ได้จบการศึกษาและก้าวเข้ามาเป็นบุคลากรทางการแพทย์แล้ว โดยโครงการ QUALI-DEC จะได้มีการจัดโครงการในลักษณะนี้ต่อไปร่วมกับสถาบันการศึกษาทางการแพทย์อื่น ๆ อีกในอนาคต

องค์กรการศึกษาใดที่สนใจให้มีการจัดการบรรยายให้หัวข้อ “การคลอดอย่างปลอดภัย” นี้ สามารถติดต่อโครงการ QUALI-DEC เพื่อขอให้มีการจัดการบรรยายเช่นนี้ได้ทางออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยสามารถติดต่อได้ที่อีเมล์ safebirththailand@gmail.com หรือโทรศัพท์ 062-2185385

การตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้า (Monitoring Visit) ของโครงการวิจัย QUALI-DEC ณ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

วันที่ 25 เมษายน 2565

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 นพ. พิษณุ ขันติพงษ์ ผู้ประสานงานโครงการวิจัย QUALI-DEC ได้เข้าตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าของโครงการวิจัย QUALI-DEC ณ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย ที่เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ได้เข้าร่วมโครงการวิจัย QUALI-DEC นี้ โดยการเข้าตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรก โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้กำลังใจ ให้ข้อมูล และรับฟังข้อซักถามและข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการนี้
ในการนี้ นพ. พิษณุ ขันติพงษ์ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการได้รับการต้อนรับจาก พญ.กรรณิการ์  ไซสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกและ Opinion Leaders ของ QUALI-DEC ประจำโรงพยาบาล รวมถึงแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของโรงพยาบาลอย่างอบอุ่น และยังได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ต่าง ๆ ในแผนกสูตินรีเวชกรรม ของโรงพยาบาล อาทิ ห้องคลอด และห้องที่ได้จัดไว้สนับสนุนวิธีการมีเพื่อนผู้คลอด (Labour Companionship) เพื่อทำความเข้าใจในบริบทการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อีกด้วย โดยข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากโรงพยาบาลจะได้นำมาปรับใช้และพัฒนาต่อไป

WEBINAR TALK เรื่อง “คลอด (อย่างไรให้) ปลอดภัย”

วันที่ 25 เมษายน 2565 โครงการ QUALI-DEC ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัด Webinar Special Talk ในหัวข้อ “คลอด (อย่างไรให้) ปลอดภัย” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.น.พ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย QUALI-DEC ประเทศไทย มาเป็นวิทยากร

การจัด Webinar ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการคลอดให้กับนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ที่กำลังจะจบการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้มีองค์ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคลอดไปเผยแพร่ต่อไปในอนาคต หลังจากจบการศึกษาและก้าวเข้ามาเป็นบุคลากรทางการแพทย์แล้ว

การจัด Webinar ในครั้งนี้นับว่าเป็นการจัดการบรรยายครั้งแรกของโครงการ QUALI-DEC และจะได้มีการจัดโครงการในลักษณะนี้ต่อไปร่วมกับสถาบันการศึกษาทางการแพทย์อื่น ๆ อีกในอนาคต

องค์กรการศึกษาใดที่สนใจให้มีการจัดการบรรยายให้หัวข้อ “การคลอดอย่างปลอดภัย” นี้ สามารถติดต่อโครงการ QUALI-DEC เพื่อขอให้มีการจัดการบรรยายเช่นนี้ได้ทางออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยสามารถติดต่อได้ที่ safebirththailand@gmail.com หรือโทร 0622185385

การถ่ายทำสื่อวิดีทัศน์ “คู่มือผู้คลอด” (DAT)

19 เมษายน 2565

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการจัดการถ่ายทำสื่อวิดีทัศน์เพื่อใช้ประกอบการให้ความรู้เรื่องการใช้ “คู่มือผู้คลอด” หรือ DAT (Data Analysis Tool) อันเป็นหนึ่งในสี่วิธีการ ซึ่งไม่ใช่วิธีทางการแพทย์ (non-clinical interventions) ที่จะนำมาปรับใช้ในโรงพยาบาลเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น โดยสื่อวิดีโอนี้จะได้นำไปใช้ในโรงพยาบาลทั้ง 8 แห่ง เพื่อสื่อสารวิธีการใช้คู่มือผู้คลอดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสตรีตั้งครรภ์จะสามารถใช้คู่มือประกอบการให้คำปรึกษาและให้ความรู้เรื่องวิธีการคลอดต่อไป

การตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้า (Monitoring Visit) ของโครงการวิจัย QUALI-DEC ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์และโรงพยาบาลอุดรธานี

8 เมษายน 2565

เมื่อวันที่ 6 เมษายน และวันที่ 8 เมษายน 2565 ทีมงานโครงการวิจัย QUALI-DEC นำโดย ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ และ ผศ.นพ.เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ได้เข้าตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าของโครงการวิจัย QUALI-DEC ณ โรงพยาบาลอีกสองแห่งที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ. ขอนแก่น และโรงพยาบาลอุดรธานี จ. อุดรธานี เพื่อให้กำลังใจ ให้ข้อมูล และรับฟังข้อซักถามและข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการนี้ โดยได้รับการต้อนรับจาก Opinion Leaders และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองโรงพยาบาล ได้แก่ ผศ.พญ.รัตนา คำวิลัยศักดิ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และ  นพ. เมธา ทรงธรรมวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลอุดรธานี

ที่โรงพยาบาลอุดรธานี ทีมวิจัยยังได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ต่าง ๆ ในแผนกสูตินรีเวชกรรม ของโรงพยาบาลอุดรธานี อาทิ ห้องคลอดและห้องที่ได้จัดไว้สนับสนุนวิธีการมีเพื่อนผู้คลอด (Labour Companionship) เพื่อทำความเข้าใจในบริบทการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อีกด้วยโดยข้อเสนอแนะจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากทั้งสองโรงพยาบาล อาทิ การสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อจะได้นำมาปรับใช้และพัฒนาต่อไป

การตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้า (Monitoring Visit) ของโครงการวิจัย QUALI-DEC ณ โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการในเขตภาคกลาง

31 มีนาคม 2565


ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2565 ทีมผู้ประสานงานโครงการวิจัย Quali-Dec นำโดย ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ นพ.พิษณุ ขันติพงษ์ และรศ.ดร.นพ. ดิฐกานต์  บริบูรณ์หิรัญสาร ได้เข้าเยี่ยมติดตามความคืบหน้าของโครงการวิจัยในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการในแถบภาคกลาง อันประกอบไปด้วย 4 โรงพยาบาลด้วยกันคือ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยทีมผู้ประสานงานได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้บริหารและตัวแทนผู้รับผิดชอบโครงการในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ให้ได้เข้าพบปะพูดคุยกับทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่แผนกสูตินรีเวชกรรม เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินโครงการ และเปิดโอกาสให้ซักถามและให้คำแนะนำเพื่อสร้างความเข้าใจในทิศทางการดำเนินโครงการที่ตรงกัน

โดยการตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าครั้งต่อไปจะได้ดำเนินการอีกครั้งในอีกสามเดือนข้างหน้าเพื่อให้เวลาโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้มีเวลาที่จะจัดการและเตรียมการนำเอาวิธีที่ไม่ใช่วิธีทางการแพทย์ (non-clinical interventions) โดยการตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าครั้งต่อไปจะได้ดำเนินการอีกครั้งในอีกสามเดือนข้างหน้าเพื่อให้เวลาโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้มีเวลาที่จะจัดการและเตรียมการนำเอาวิธีที่ไม่ใช่วิธีทางการแพทย์ (non-clinical interventions) อันประกอบไปด้วย การมีผู้นำทางความคิด การตรวจสอบและให้ผลสะท้อนกลับ การใช้คู่มือเพื่อช่วยในการตัดสินใจ และการมีเพื่อนผู้คลอด มาปรับใช้ในโรงพยาบาลเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นต่อไป

การตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้า (Monitoring Visit) ของโครงการวิจัย QUALI-DEC ณ โรงพยาบาลขอนแก่น

21 มีนาคม 2565

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 ทีมงานโครงการวิจัย QUALI-DEC นำโดย ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ และ ผศ.นพ.เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้าของโครงการวิจัย QUALI-DEC ณ โรงพยาบาลขอนแก่น จ. ขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทีมแพทย์ พยาบาล หัวหน้าห้องคลอด หัวหน้าห้องฝากครรภ์ และเจ้าหน้าที่แผนกสูตินรีเวชกรรม นำโดย นพ. ธนนิตย์ สังคมกำแหง รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วย พญ. อุษณีย์ สังคมกำแหง ผู้ซึ่งรับหน้าที่เป็น Opinion Leader ของโครงการประจำรพ .ขอนแก่น

ในการนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทีมงานได้พบปะกับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการวิจัย ณ รพ. ขอนแก่นเป็นครั้งแรก เพื่อแนะนำและทำความเข้าใจเกี่ยวกับจุดประสงค์หลักของโครงการ ตลอดจนการนำเอาวิธีที่ไม่ใช่วิธีทางการแพทย์ (non-clinical interventions) มาใช้ในโรงพยาบาลเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็ทั้งยังเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาโครงการวิจัยให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานของบุคลากรที่โรงพยาบาลด้วย

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ต่าง ๆ ในแผนกสูตินรีเวชกรรม ของโรงพยาบาล อาทิ ห้องคลอดและห้องฝากครรภ์ เพื่อทำความเข้าใจในบริบทการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อีกด้วย

โครงการ QUALI-DEC ในประเทศไทย

8 กุมภาพันธ์ 2564

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิเศก ลุมพิกานนท์ เป็นศาสตราจารย์ด้านสูตินรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงเป็นผู้อำนายการองค์กร Cochrane แห่งประเทศไทยที่เป็นองค์กรสนับสนุนการทำวิจัยเชิงสังเคราะห์ และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน WHO เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ และ อาจารย์ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และผู้รั้งตำแหน่งประธานสมาพันธ์สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาแห่งเอเชียและโอเชียเนีย

ในวีดีโอนี้ ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การลดการผ่าคลอดในประเทศไทย