โรงพยาบาลในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการ QUALI-DEC



โครงการ  QUALI-DEC นี้ นอกจากจะมีสถาบันที่ให้ความร่วมมือในการทำวิจัยจากทั่วโลก โดยมีประเทศที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดสี่ประเทศด้วยกัน โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมโครงการวิจัยด้วย แต่ละประเทศได้นำเอาเครื่องมือ QUALI-DEC ไปปฏิบัติทดลองใช้ในโรงพยาบาลตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีแพทย์และนักวิจัยในโรงพยาบาลนั้น ๆ เป็นผู้ให้คำแนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ได้มีความรู้ความเข้าใจถึงความแตกต่าง ประโยชน์และความเสี่ยงของการคลอดในแต่ละรูปแบบ 

ในประเทศไทยมีโรงพยาบาลทั้งสิ้นจำนวน 8 แห่งเข้าร่วมในโครงการ ดังรายชื่อต่อไปนี้

โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ หรือที่ชาวเชียงรายนิยมเรียกว่า โฮงยาไทย ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดเชียงราย มีจำนวนเตียงทั้งหมด 760 เตียง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และปัจจุบันทำหน้าที่เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกและสถาบันสมทบเพื่อการผลิตแพทย์ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดปราจีนบุรี และเป็นโรงพยาบาลนำร่องเรื่องการแพทย์แผนไทย ใช้สมุนไพรบำบัดรักษาโรค มีการนวด อบ ประคบ และฝังเข็ม แปรรูปสมุนไพรไทยเป็นเวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง  ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลศูนย์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 ได้มีการปรับปรุงทั้งด้าน โครงสร้าง อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทันสมัย มีการจัดหาและพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพในทุกด้าน โดย

โรงพยาบาลขอนแก่น ตั้งอยู่เลขที่ 54, 56 ถนนศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2490 ขุนบำรุงรัตนบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และคณะกรรมการจังหวัดร่วมกับพ่อค้าประชาชน ได้จัดงานประจำปีหาเงินสบทบกองทุนสร้างโรงพยาบาล และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2494 ปัจจุบันได้ยกระดับเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 1,000 เตียง ดูแลรักษาผู้ป่วยทุกสาขามีศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง 5 สาขา ได้แก่ สาขาอุบัติเหตุ สาขาทารกแรกเกิด สาขาโรคมะเร็ง สาขาโรคหัวใจ และ สาขารับบริจาคปลูกถ่ายอวัยวะ บุคลากรโรงพยาบาลขอนแก่นยังคงยึดมั่นคำขวัญที่ว่า “โรงพยาบาลขอนแก่น เป็นโรงพยาบาลที่ไม่มีคำว่าเตียงเต็ม เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นที่พึ่งของประชาชน”

โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งในช่วงปี 2520 เป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในโครงการ  “โรงพยาบาลชานพระนคร” ทางด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นองค์กรสุขภาพแห่งชาติด้านอาชีวเวชศาสตร์และศูนย์การแพทย์ที่มีมาตรฐานระดับสากล โดยมุ่งเน้นให้บริการด้านคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ วินิจฉัย รักษาโรคจากการทำงานและโรคจากสิ่งแวดล้อม ในระดับประเทศและอาเซียน และให้บริการศูนย์พิษวิทยา ตรวจสารเคมีให้แก่ประชาชน

โรงพยาบาลราชวิถี เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล นับเป็นโรงพยาบาลศูนย์วิชาการที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2494 โดยใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลหญิง” ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อให้เป็น โรงพยาบาลเฉพาะสตรีและเด็ก เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกและสถาบันร่วมผลิตแพทย์ให้กับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อร่วมกันผลิตแพทย์ระหว่างภาครัฐและเอกชน

โรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของ ประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเกิดอหิวาตกโรคระบาดชุกชุม จนได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “โรงพยาบาลวังหลัง” โดยทำการบำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของไทย

โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยระดับตติยภูมิขั้นสูงแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นโรงเรียนแพทย์สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2518 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เริ่มเปิดอาคารชั่วคราวเพื่อการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และ ให้บริการประชาชน โดยใช้อาคารโรงพยาบาลโรคเรื้อนเดิมบริเวณสีฐาน ซึ่งเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว เรียกว่า “โรงพยาบาลฮัท” (Hut Hospital) โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้กำเนิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง รัฐบาลไทยและรัฐบาลนิวซีแลนด์เพื่อให้ประชาชนในภาคตะวันออก เฉียงเหนือซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศไทยได้รับ บริการจากสถานพยาบาลในระดับมหาวิทยาลัย และเพิ่มศักยภาพในการ ผลิตแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขทุกประเภท ให้มีความรู้ ความชำนาญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ ณ อาคารโรงพยาบาล ศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 และมีพระบรมราชโองการพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลศรีนครินทร์” ตามพระนามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โรงพยาบาลอุดรธานี เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประเภทโรงพยาบาลประจำจังหวัด ให้บริการรักษาทั่วผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ตั้งอยู่ที่เลขที่ 33 ถ.เพาะนิยม ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี และทำหน้าที่เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกและสถาบันสมทบเพื่อการผลิตแพทย์ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลอุดรธานี ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2494 ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ยกฐานะโรงพยาบาลอุดรธานีขึ้นเป็น โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เพื่อสกัดกั้นผู้ป่วยที่อยู่ในต่างจังหวัดมิให้ต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นในการขอรับบริการที่มีคุณภาพจากโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร และเพื่อรับการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลจังหวัดอื่นๆ ที่มีอยู่โดยรอบ ตลอดจนเป็นสถานที่ฝึกอบรมบุคลากรสาธารณสุข