หากคุณกำลังตั้งครรภ์ลูกคนแรกและภาวะครรภ์ของคุณไม่ได้มีความผิดปกติใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าไม่ควรคลอดทางช่องคลอด ในช่วงวางแผนการคลอดนี้คุณอาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่ามากมายจากญาติหรือเพื่อนของคุณที่เคยมีประสบการณ์การคลอดมาก่อน บางคนอาจจะเคยคลอดธรรมชาติ บางคนอาจจะเคยผ่าตัดคลอด และอาจจะเคยได้ยินข้อถกเถียงกันว่าวิธีไหนเป็นวิธีคลอดที่ดีที่สุด มาถึงตอนนี้คุณอาจจะรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะเลือกวิธีไหนดีที่จะเหมาะกับตัวคุณและลูกน้อยของคุณที่สุด
การคลอดของผู้หญิงแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน บางคนคลอดง่ายและใช้เวลาเพียงไม่นาน แต่บางคนอาจเจ็บท้องยาวนานข้ามคืน บางคนน้ำคร่ำแตกก่อนจะปวดท้องคลอด บางคนต้องคลอดก่อนกำหนด บางคนเกิดภาวะสายสะดือพันคอทารก จึงอาจกล่าวได้ว่าการคลอดของคุณแม่แต่ละคนเป็นภาวะเฉพาะคนและเฉพาะกรณีจริง ๆ
ในการที่จะได้คลอดทางช่องคลอด หรือ จะต้องรับการผ่าตัดคลอดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น น้ำหนัก ขนาดและท่าของทารกในครรภ์ รวมถึงประวัติทางการแพทย์ของคุณแม่เอง เว็บไซต์นี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้คุณแม่และบุคลากรทางการแพทย์ตัดสินใจเลือกได้ดีที่สุดเพื่อสุขภาพของคุณและลูกน้อย
การคลอดของผู้หญิงแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน
QUALI-DEC Application
โครงการ QUALI-DEC (สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์หลักภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.qualidec.com) จะให้ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้คุณได้พิจารณาเปรียบเทียบเกี่ยวกับวิธีคลอดก่อนที่จะถึงกำหนดคลอด
จากการที่เราได้ศึกษาข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มาอย่างมากมายและหลากหลาย ทีมวิจัยของโครงการ QUALI-DEC ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากองค์การอนามัยโลก จึงได้สรุปการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการคลอดสองแบบ ได้แก่ การคลอดธรรมชาติทางช่องคลอดและการผ่าคลอด โดยได้สรุปข้อมูลที่ได้ศึกษามาแล้วดังกล่าวไว้ใน คู่มือผู้คลอด ที่คุณสามารถดาวน์โหลดไปอ่านได้
คู่มือผู้คลอด ฉบับหนังสือเสียง
คุณสามารถใช้งานคู่มือนี้ผ่านทางแอพพลิเคชั่นในมือถือที่ชื่อว่า “QUALI-DEC” ได้เช่นเดียวกัน โดยสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ทางแอปสโตร์หรือเพลย์สโตร์จากสมาร์ทโฟนของคุณเอง ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเวียดนาม
ข้อมูลต่าง ๆ ในคู่มือนี้จะช่วยให้คุณกลับมาตั้งคำถามที่ถูกต้องกับตัวเองและคิดอย่างถี่ถ้วนว่าการคลอดแบบไหนที่เหมาะกับคุณมากที่สุด ที่สำคัญที่สุดคือคู่มือนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูล
เหนือสิ่งอื่นใดคือ เพราะคุณคือผู้คลอด คุณจึงควรต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอที่จะตัดสินใจเรื่องการคลอดของคุณเองได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด
ระหว่างที่คลอด จะมีใครอยู่เป็นเพื่อนกับฉันได้บ้างไหม
ในการคลอดที่มีเพื่อนเข้าห้องคลอดด้วย โดยที่บุคคลผู้นั้นไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์นับว่ามีข้อดีมาก ไม่ว่าจะเป็นคู่ครองหรือใครก็ตามที่คุณเลือกเองจะมีบทบาทในการช่วยปลอบโยนและสร้างขวัญกำลังใจให้กับคุณได้ระหว่างการคลอด
เราเรียกบุคคลนั้นว่า “เพื่อนผู้คลอด” (Labour Companion)
เพื่อนผู้คลอด คือ บุคคลที่สตรีตั้งครรภ์ได้เลือกไว้ให้เป็นผู้ช่วยในขณะที่เข้าห้องคลอด โดยเป็นบุคคลที่คุณไว้วางใจและรู้สึกสบายใจที่จะมีเพื่อนผู้คลอดคอยให้กำลังใจและความช่วยเหลือในขณะที่กำลังคลอด โดยเพื่อนผู้ช่วยคลอดนี้อาจจะเป็น สามี คู่ชีวิต หรือคนรัก คุณแม่ เพื่อนสนิท พี่น้อง หรือญาติที่ใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมสำหรับเพื่อนผู้คลอดเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก เพื่อนผู้คลอดของคุณควรจะต้องได้เข้าห้องเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนคลอดกับคุณด้วย โดยที่คุณควรจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการต่าง ๆ ของคุณระหว่างการคลอดกับเพื่อนผู้คลอดของคุณอย่างละเอียด
งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การมีเพื่อนผู้คลอดให้ประโยชน์มากมาย โดยผู้คลอดจะได้รับกำลังใจและการสนับสนุนทางด้านอารมณ์ (เช่น การคอยอยู่เป็นเพื่อน การสร้างความเชื่อมั่น และการแสดงความชื่นชม) สามารถช่วยทำให้ผู้คลอดรู้สึกสบายขึ้น (เช่น การสัมผัสอย่างปลอบโยน การนวด การช่วยผู้คลอดให้ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ช่วยให้ผู้คลอดได้ดื่มน้ำเพียงพอและช่วยเหลือเวลาต้องปัสสาวะ) และยังช่วยสื่อสารแทนผู้คลอดเมื่อผู้คลอดต้องการ
นอกจากนี้ยังพบว่าสตรีที่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนผู้คลอดจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าที่จะคลอดทางช่องคลอด (โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเช่น คีม เครื่องดูดสุญญากาศ หรือใช้การผ่าตัดคลอด) ลดการใช้ยาช่วยบรรเทาอาการปวด และลดระยะเวลาการคลอดให้สั้นลงได้อีกด้วย
QUALI-DEC Website
เพื่อนผู้คลอดจะช่วยคุณในระหว่างคลอดได้อย่างไรบ้าง
- ช่วยสื่อสารกับแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่เพื่อนัดหมายการมาโรงพยาบาล
- เมื่อเข้าโรงพยาบาลแล้ว จะคอยอยู่เป็นเพื่อนคุณตลอดเวลาอย่างมีสติ และคอยให้พลังบวกและคอยให้กำลังใจ
- ช่วยหาของว่างและน้ำดื่มให้คุณ
- ช่วยพยุงให้ลุกหรือให้เดิน เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บครรภ์คลอด
- ช่วยพลิกตัวหรือขยับตัวให้คุณอยู่ในท่าที่สบายที่สุด
- ช่วยเตือนเรื่องการหายใจ โดยพยายามให้หายใจช้า ๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บครรภ์คลอด
- ช่วยนวดเบา ๆ ที่หลังหรือมือ และคอยเช็ดหน้าให้
- ช่วยสื่อสารความต้องการของคุณแก่คณะแพทย์พยาบาล รวมถึงสื่อสารข้อมูลจากทีมแพทย์ให้แก่คุณ และช่วยในการตัดสินใจหรือช่วยพูดแทนคุณเมื่อคุณไม่สะดวกที่จะสื่อสารได้ด้วยตัวเอง
- อาจจะช่วยสื่อสารให้ครอบครัวหรือเพื่อน ๆ ของคุณได้ทราบถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น