โครงการ QUALI-DEC
ในปัจจุบันนี้ทั่วโลกกำลังเป็นกังวลและมีการถกเถียงกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วถึงอัตราส่วนการผ่าตัดคลอดที่กำลังเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ การผ่าตัดคลอดบางส่วนเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีความจำเป็นหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งในกรณีนี้ทำให้เกิดการเบียดบังทรัพยากรที่จะใช้ในการแพทย์ไปอย่างน่าเสียดาย แทนที่จะได้ใช้ทรัพยากรเหล่านี้ทำประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ป่วยหรือผู้คลอดที่มีความจำเป็นหรือมีความต้องการจริง ๆ
งานวิจัยในโครงการ QUALI-DEC นี้ ได้มีกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมวิจัยในเบื้องต้นนี้จำนวน 4 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ประเทศอาร์เจนติน่า ประเทศเบอร์กิน่าฟาโซ ประเทศไทย และประเทศเวียดนาม ซึ่งได้มีนักวิจัยและทีมแพทย์จากประเทศดังกล่าวได้เข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อลดอัตราการผ่าคลอดที่ไม่จำเป็นลงไป
ในการดำเนินการวิจัยในโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและการพัฒนา (IRD) ประเทศฝรั่งเศสและองค์การอนามัยโลก โดยใช้วิธีการที่ไม่ใช่วิธีการทางการแพทย์เพื่อจัดการกับอุปสรรคและปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้อให้เกิดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น และเพื่อช่วยให้สตรีตั้งครรภ์สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อสามารถร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผนการคลอดของตนเองได้กับคณะบุคลากรทางการแพทย์
จากข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่า การลดอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงยังจะต้องหาวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพผ่านการออกแบบวิธีการที่มีประสิทธิภาพภายใต้บริบทการทำงานทางการแพทย์และวัฒนธรรมที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของการดำเนินการวิจัยในโครงการนี้ของทั้งสี่ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ
เราทำวิจัยกันอย่างไรในโครงการ QUALI-DEC
จากข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โครงการ QUALI-DEC ได้ออกแบบองค์ประกอบในงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นจำนวน 4 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่
- การใช้ ‘ผู้นำทางความคิด‘ (opinion leaders) ในการให้ข้อมูลสนับสนุนและชี้นำทิศทางของเวชปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม
- การทบทวนและตรวจสอบข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจผ่าตัดคลอด โดยจะมีการให้ผลสะท้อนกลับเพื่อตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น กระบวนการนี้เรียกว่า ‘การตรวจสอบและการให้ผลสะท้อนกลับ‘ (audit & feedback)
- การที่ญาติใกล้ชิดหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้คลอดได้มีบทบาทในการสนับสนุนระหว่างการคลอด หรือ ที่เรียกว่า ‘เพื่อนผู้คลอด‘ (companionship)
- ‘เครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ‘ (decision analysis tool – DAT) เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการช่วยสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสตรีตั้งครรภ์ในช่วงระยะเวลาระหว่างการตั้งครรภ์และเตรียมการคลอด
ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ QUALI-DEC
ในสี่ประเทศที่เป็นแหล่งการวิจัยของโครงการ QUAL-DEC ได้มีการนำเอากลยุทธ์เหล่านี้ไปใช้ในองค์กรและในสถานพยาบาลตัวอย่างที่เกี่ยวข้องเพื่อเก็บข้อมูลว่า จะสามารถนำเครื่องมือทั้งสี่อย่างนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อลดการผ่าตัดคลอดโดยไม่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพื่อที่จะสามารถนำไปขยายผลการวิจัยในวงกว้างขึ้นต่อไปในอนาคต